วิธีการปฐมพยาบาลปลาป่วย แยกปลาป่วย การวินิจฉัย วิธีรักษา!

หลังจากที่เราพบว่า ปลาที่เลี้ยงนั้นเริ่มแสดงอาการป่วยแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการเป็นสิ่งแรกเลยคือ แยกปลาป่วยออกจากปลาปกติ เพื่อนำมาปฐมพยาบาลก่อนไปพบคุณหมอ ซึ่งวิธีการจะเป็นอย่างไร

วันนี้ผมยังมีข้อมูลดีๆ จาก “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคติดเชื้อในปลา” (Center of Excellence in Fish infectious diseases, CEFID) 

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รศ.น.สพ.ดร. ชาญณรงค์ รอดคำ

วิธีปฐมพยาบาลปลาป่วย

วิธีการปฐมพยาบาลปลาป่วย แยกปลาป่วย การวินิจฉัย วิธีรักษา โรคปลา

การเตรียมปลาป่วยออกมาเพื่อปฐมพยาบาลนั้น สิ่งที่เราต้องเตรียมและคำนึงถึงในการแยกปลาออกมาปฐมพยาบาล เพื่อนำไปวินิจฉัยโรคปลาและเพื่อการรักษาโรคต่อไป โดยมีวิธีการดังนี้

รายละเอียดเพิ่มเติม

1. ภาชนะสำหรับแยกปลาป่วย

เราควรจัดหาภาชนะเพื่อแยกปลามารักษาโดยเฉพาะ  ถ้าเป็นปลาขนาดเล็กถึงขนาดกลางก็นิยมใช้ถังหรือตู้กระจกที่มีความจุน้ำอย่างต่ำสัก 50 ลิตร แต่ถ้าเป็นปลาขนาดใหญ่ ก็อาจใช้ถังหรือตู้ขนาด 150 ลิตรขึ้นไปหรือไม่ก็เป็นบ่อปลา ซึ่งอาจเป็นบ่อพลาสติกหรือบ่อปูนก็ได้ครับ

2. ตำแหน่งการวางตู้หรือบ่อพยาบาล

ตำแหน่งของตู้หรือบ่อสำหรับใช้พยาบาลปลาป่วยนั้น ควรวางในบริเวณที่มีแสงส่องสว่างเพียงพอ เพราะเราต้องคอยสังเกตอาการปลาอย่างใกล้ชิด สิ่งที่สำคัญ บริเวณนั้นจะต้องไม่อยู่ในจุดที่ทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมากนัก

หากจะให้ดี ควรหาเครื่องทำความร้อนหรือฮีทเตอร์มาใช้ควบคุมอุณหภูมิน้ำอีกสักตัว  เพื่อไม่ให้น้ำเย็นเกินไปก็จะเป็นการดีครับ

3. ความสะอาด

ควรทำความสะอาดภาชนะก่อนนำมาใช้ แต่ต้องระวังเรื่องสารตกค้างด้วยอาจล้างอุปกรณ์ด้วยน้ำเกลือเข้มข้น หรือใช้ด่างทับทิมเจือจาง หลังจากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง

4. การเตรียมน้ำ

น้ำที่จะนำมาใส่บ่อหรือตู้ปฐมพยาบาลปลานั้น ต้องเป็นน้ำที่ปราศจากคลอรีน หากเป็นน้ำประปา ควรตั้งทิ้งไว้ 1-2 วัน เพื่อให้คลอรีนสลายตัวหมดก่อนและน้ำที่ใช้ต้องมีอุณหภูมิเท่ากันกับตู้เลี้ยงที่กำลังจะแยกปลาป่วยออกมาด้วยเพื่อไม่ให้ปลาช็อคจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

5.ที่หลบซ่อนของปลา

ควรจัดหาวัสดุให้ปลาหลบซ่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเกิดอาการเครียด เช่นขอนไม้ ต้นไม้ หรือก้อนหิน แต่อย่าวางสิ่งเหล่านี้ให้รกจนเกินไป การจัดวางควรจัดบริเวณกลางไปจนถึงหลังตู้ ไม่ควรปูกรวดหรือทรายที่พื้นตู้ เพราะจะเป็นที่สะสมหรือฟักตัวของเชื้อโรคและพยาธิได้

6. การกรองน้ำ

ควรติดตั้งตัวกรองน้ำขนาดเล็ก เพื่อช่วยให้น้ำสะอาด มีการไหลเวียนที่ดีและมีปริมาณออกซิเจนเพียงพอต่อปลาป่วยที่แยกออกมา

7. การเคลื่อนย้ายปลา

การเคลื่อนย้ายปลาออกจาบ่อหรือตู้เดิม ผู้เลี้ยงต้องค่อยๆ จับปลาป่วยออกมา  การจับปลาควรทำอย่างนุ่มนวล ไม่ควรใช้กระชอนไล่ควานอย่างบ้าคลั่งเพราะจะทำให้ปลาช็อคจนเสียชีวิตได้ ควรค่อยๆ ทำอย่างละมุนละม่อม โดยใช้กระชอนสองอันที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวปลาหลายๆ เท่า ค่อยๆ ต้อนจนเข้ามุมแล้วช้อนออกมาใส่ถุงพลาสติคหรือกะละมังที่เตรียมไว้

จากนั้น นำถุงพลาสติกหรือกะละมังไปลอยไว้ในน้ำของตู้พยาบาล (สามารถลอยทั้งถุงได้เลย แต่ยังไม่ต้องเทปลาลงในบ่อครับ) เพื่อปรับอุณหภูมิให้เท่ากันดีเสียก่อน ใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาที จากนั้นค่อยเอากระชอนช้อนเฉพาะตัวปลา ใส่ลงตู้พยาบาล แต่ “อย่า”เทน้ำที่ได้จากตู้เดิมลงไปด้วย

ถึงตอนนี้ปลาก็พร้อมสำหรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไปแล้วครับ

เราควรจะทำอย่างไร กับตู้เลี้ยงเดิม ที่ยังมีปลาที่ไม่ป่วยอยู่ ??

สิ่งง่ายที่สุดที่ทำได้ คือให้เปลี่ยนน้ำหรือถ่ายน้ำประมาณ 20-25% เพื่อไม่ให้สภาพน้ำเปลี่ยนแปลงอย่าเฉียบพลัน และสังเกตอาการของปลาตัวอื่นๆ ต่อไปอีกสักระยะ เพื่อหาดูว่าปลาตัวไหนมีอาการผิดปกติอีกหรือไม่ หากมีปลาป่วยเพิ่ม เราจะได้นำมารักษาได้ทันท่วงทีครับ

ต้องจำไว้ว่า "เมื่อเห็นปลาป่วย อย่าเพิ่งใส่ยาด้วยตนเอง จนกว่าจะวินิจฉัยอาการของโรคอย่างแน่นอน และเตรียมภาชนะสำหรับรักษาให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน" และที่สำคัญควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อการวินิจฉัยให้ตรงกับโรคหรือความผิดปกตินั้นจริงๆ เสียก่อนครับ

รายละเอียดเพิ่มเติม