Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

วิธีเพาะลูกน้ำให้ปลากัด ไว้ใช้เอง เลี้ยงลูกน้ำกินอะไรเป็นอาหาร.!

เทคนิควิธีการเพาะลูกน้ำ อย่างง่ายๆ ไว้ใช้เอง เลี้ยงปลากัด ข้อดีของการเพาะเลี้ยงลูกน้ำ วงจรชีวิตยุงรำคาญ การเตรียมบ่อวางไข่ การฟักไข่ เลี้ยงลูกน้ำ และการเก็บเกี่ยวลูกน้ำ

ในวัยเด็ก เคยคิดว่า "ลูกน้ำ" คืออาหารปลากัดที่ดีที่สุด แต่เมื่อเติบโตขึ้น จึงได้พบว่า "มันเป็นเรื่องจริง"

"ลูกน้ำ" เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีความสำคัญมากอีกชนิดหนึ่งสำหรับใช้ในการเลี้ยงปลากัด เป็นอาหารมีชีวิต หรือ อาหารสด จากธรรมชาติที่เหมาะสมที่จะใช้เลี้ยงปลากัดมาตั้งแต่ในอดีตจนปัจจุบัน นอกจากจะหาง่าย สะดวก มีโปรตีนแล้ว ปลากัดก็ชอบกินลูกน้ำมากซะด้วย

ทำไมต้องเพาะเลี้ยงลูกน้ำ ไว้สำหรับเลี้ยงปลากัด

แม้ว่าเราสามารถหาช้อนลูกน้ำได้ง่าย พบตามแหล่งน้ำเสียทั่วไป ร่องน้ำ บ่อน้ำนิ่ง น้ำขัง บ่อพักน้ำ บ่อบำบัดน้ำเสียต่างๆ แต่สิ่งที่จะได้มาด้วยคือ การปนเปื้อนจากเชื้อโรคและปรสิตต่างๆ จากสิ่งสกปรกที่ปะปนอยู่ในแหล่งน้ำเสีย ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคปลากัด เมื่อปลากัดกินลูกน้ำเหล่านี้เข้าไป อาจมีอาการป่วยได้ง่ายและหากรักษาไม่ทันอาจรุนแรงจนถึงตายได้

วิธีเพาะลูกน้ำให้ปลากัด

ลูกน้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยง เราสามารถควบคุมความสะอาดของน้ำได้ ลูกน้ำที่ได้จึงมีความสะอาด ปราศจากโรคและปรสิตต่างๆ ที่จะมาเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคปลากัดต่างๆ ได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงปลอดภัยต่อปลากัด

รายละเอียดเพิ่มเติม

สามารถนำมาใช้เลี้ยงปลากัดได้อย่างสบายใจ และลูกน้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยง สามารถนำไปใช้ในการอนุบาลลูกปลากัดได้ เพราะขนาดลูกน้ำที่ฟักตัวออกจากฝักไข่ในวันแรกจะมีขนาดค่อนข้างเล็กมาก สามารถนำไปใช้เลี้ยงลูกปลากัดในวัยที่สามารถกินลูกน้ำขนาดเล็กได้อย่างดี

ข้อดี การเพาะเลี้ยงลูกน้ำไว้ใช้เอง

ข้อดีของการเพาะเลี้ยงลูกน้ำไว้ใช้เอง นอกจากจะได้ลูกน้ำที่สะอาดปลอดภัยแล้ว ยังสามารถผลิตลูกน้ำได้มากพอควร และมีเพียงพอไว้ใช้ได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน จึงเหมาะสำหรับผู้เลี้ยงปลากัดเป็นอาชีพ ช่วยลดต้นทุน ประหยัดเวลา ในการจัดหาอาหารปลากัดในแต่ละวัน ซึ่งต้องการอาหารสดมีชีวิตในปริมาณค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ การเพาะเลี้ยงลูกน้ำ ใช้พื้นที่ไม่มาก ประหยัดพื้นที่ ใครๆก็ทำได้ง่ายๆ ใช้เงินทุนต่ำมาก สามารถหาภาชนะเลี้ยงลูกน้ำได้เท่าที่หาได้ แค่ใส่น้ำได้ เช่นถัง กะละมังเก่าๆ ก็ได้ไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่

ทำความสะอาดง่ายและเคลื่อนย้ายได้สะดวก และวัสดุที่ใช้ในบ่อวางไข่ของยุง สามารถเลือกวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็น เปลือกแตงโม เปลือกขนุน เปลือกมะละกอ หรือฟางข้าว ที่ต้องนำมาหมักให้เน่าเพื่อก่อให้เกิดกลิ่นล่อให้ยุงมาวางไข่ได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง

อ้าว ! แล้วการเพาะเลี้ยงลูกน้ำแบบนี้ จะไม่ช่วยแพร่กระจายของยุงลาย เหรอ?

ความจริงแล้ว ยุงลายจะไม่วางไข่ในน้ำที่มีกลิ่นเหม็น แต่ยุงลายจะเลือกวางไข่ในแหล่งน้ำสะอาด ที่ค่อนข้างน้ำใส จึงไม่มีส่วนที่จะเพิ่มแหล่งวางไข่ของยุงลาย ซึ่งสำหรับคนเลี้ยงปลาแล้ว คงไม่ปล่อยให้ลูกน้ำเหลือจนกลายเป็นยุงไปได้ เพราะอยากได้ตัวลูกน้ำเพื่อนำไปให้ปลากัดที่กำลังรอกินลูกน้ำอยู่

ซึ่งผู้เพาะเลี้ยงลูกน้ำ จะต้องมีจิตสำนึกในการช่วยลดปัญหาในเรื่องการแพร่กระจายของยุงด้วย คืออย่าปล่อยให้ลูกน้ำมีอายุเกิน 5 วันในฤดูร้อน และ 7 วันในฤดูหนาว เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้ำเข้าสู่ระยะดักแด้ ซึ่งอาจสามารถลอกคราบไปเป็นยุงได้ ก็จะเป็นการช่วยลดปริมาณยุงได้อย่างแท้จริง

ในความเป็นจริงแล้ว การเพาะเลี้ยงลูกน้ำ กลับจะยิ่งช่วยลดปริมาณยุงในธรรมชาติลงได้ ซะด้วยซ้ำ เนื่องจากเป็นวิธีการล่อให้แม่ยุงที่มีความสมบูรณ์และกำลังต้องการที่วางไข่ ให้บินมาลงวางไข่ในภาชนะที่จัดเตรียมไว้ที่นี่ เราจึงสามารถควบคุมปริมาณยุงเกิดใหม่ได้อย่างดี

รู้จักยุงบ้าน ยุงรำคาญ ก่อนจะเพาะเลี้ยงลูกน้ำ

การผลิตลูกน้ำในครั้งนี้ จะใช้ ยุงรำคาญ หรือยุงบ้าน เป็นยุงที่อยู่ในสกุล Culex spp. ซึ่งเป็นชนิดของยุง ที่ไม่ถูกระบุว่าเป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์

แต่เป็นยุงที่ก่อให้เกิดความรำคาญ แก่มนุษย์และสัตว์เลือดอุ่น ค่อนข้างมาก โดยยุงจะออกหากินตั้งแต่หัวค่ำจนรุ่งเช้า ด้วยการเกาะดูดเลือดจากผิวหนังทำให้เกิดอาการคันตรงบริเวณที่ยุงกัด

ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นยุงตัวผู้หรือยุงตัวเมีย อาหารของมันก็คือ "น้ำหวาน" จากดอกไม้ แต่ยุงตัวเมียจะเปลี่ยนมาดูดกินเลือด ก็ต่อเมื่อมันต้องการที่จะวางไข่ เนื่องจากเลือดเป็นอาหารที่สมบูรณ์ ยิ่งกินเลือดไปได้มากเท่าใด ไข่จะสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ปริมาณไข่ต่อตัวจะมากขึ้น

โดยยุงตัวเมีย 1 ตัว จะสามารถวางไข่ได้หลายรอบจนกว่าจะตาย ในสภาพปกติ ยุงจะมีช่วงชีวิตประมาณ 20 วัน โดยสามารถวางไข่ได้ราว 10 รอบ

วงจรชีวิตของยุงบ้าน ยุงรำคาญ

สำหรับยุงรำคาญที่พบในบ้านเรา มีวงจรชีวิตดังนี้ คือ

  • เมื่อยุงตัวเมียได้รับการผสมพันธุ์แล้ว จะหากินเลือดของสัตว์เลือดอุ่นในช่วงเวลากลางคืน เลือดจะทำให้รังไข่ของยุงสมบูรณ์ มองเห็นเป็นสีขาวๆ ทางด้านท้ายของส่วนท้อง
  • จากนั้นยุงจะบินหาแหล่งน้ำ ที่ค่อนข้างเน่าเสียหรือมีกลิ่นเหม็น เพื่อวางไข่ โดยจะวางไข่ไว้ตามผิวน้ำและมักวางไข่ในตอนใกล้รุ่ง
  • ลักษณะไข่ยุง จะเกาะกลุ่มเป็นแพ แพไข่ยุงที่ถูกปล่อยออกมาใหม่ๆ จะมีสีขาวนวล แล้วจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นมีสีคล้ำขึ้นจนกลายเป็นสีดำ ในเวลา 20 – 30 นาที
  • พัฒนาการไข่ยุง: ไข่ยุงจะมีพัฒนาการไปใช้เวลา 24 – 30 ชั่วโมงจึงฟักเป็นตัวอ่อนลงไปในน้ำ เรียกว่า "ลูกน้ำ" ระยะนี้จะหากินซากเน่าเปื่อยและแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำ
  • การเจริญเติบโตของลูกน้ำ จะต้องมีการลอกคราบ และที่สำคัญ คือ จะต้องขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำ โดยใช้ท่อหายใจที่อยู่บริเวณท้ายลำตัว
  • ลูกน้ำลอกคราบ: ลูกน้ำจะใช้เวลา 5 – 7 วัน มีการลอกคราบจนโตเต็มที่ ประมาณ 5 ครั้ง แล้วเปลี่ยนรูปร่างมีส่วนหัวใหญ่ขึ้นเข้าสู่ระยะดักแด้ เรียก "ตัวโม่ง" หรือ "หัวโม่ง" ระยะนี้จะหยุดการกินอาหาร เคลื่อนที่รวดเร็ว ชอบอยู่บริเวณผิวน้ำ
  • ลูกน้ำตัวโม่ง ใช้เวลาประมาณ 2 วัน จะลอกคราบเป็นตัวยุงขึ้นผิวน้ำ แล้วบินออกหากิน มีช่วงชีวิตที่เป็นยุง อยู่ประมาณ 20 - 30 วัน

วิธีเพาะเลี้ยงลูกน้ำ (ยุงรำคาญ) แบบง่ายๆ

ลูกน้ำ อาหารปลา

ลูกน้ำ สด โปรตีนสูง เร่งโต ธรรมชาติที่ปลาคุ้นเคย สะอาด ฆ่าเชื้อระบบ Sterilization บรรจุขวดสูญญากาศ สะดวก ประหยัดเวลา เปิดฝาใช้งานได้ทันที ปราศจากแป้ง ไม่ทำให้น้ำขุ่น ลดปัญหาน้ำเสีย ยืดเวลาเปลี่ยนน้ำ เหมาะสำหรับปลาสวยงามขนาดเล็ก

รายละเอียดเพิ่มเติม

1.เตรียมบ่อวางไข่ยุง

จากที่กล่าวไปแล้วว่า บ่อวางไข่ยุง สามารถใช้กะละมังก็ได้ ขนาดประมาณ 50-70 เซนติเมตรกำลังดี โดยใส่น้ำประมาณครึ่งกะละมัง จากนั้นใช้เปลือกแตงโม เปลือกขนุน เปลือกมะละกอ หรือฟางข้าว ใส่ลงไปในน้ำ กดให้จมน้ำ แล้วหมักทิ้งไว้

เพื่อให้เกิดกลิ่นเน่าเหม็นเพื่อล่อให้ยุงได้กลิ่น ก็จะบินมาวางไข่ โดยหมักไว้ 2-3 วัน แล้วใช้แผ่นไม้ แผ่นพลาสติก หรือผ้าคลุมปิดไว้บางส่วนให้มืดๆ โดยต้องเปิดให้มีช่องพอที่ยุงจะเข้าไปวางไข่ได้ เพราะยุงรำคาญจะชอบวางไข่ในน้ำที่มีกลิ่นเหม็นและค่อนข้างมืด

2. รวบรวมแพไข่ของยุง

เมื่อปล่อยทิ้งไว้ 2-3 วัน จะสังเกตพบว่าที่ผิวน้ำบริเวณฟาง จะเห็นไข่ยุงเป็นแพสีดำรูปวงรีขนาดเล็ก มีความกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 3 – 5 มิลลิเมตร ปกติยุงจะบินเข้าไปวางไข่ตอนใกล้รุ่งเช้า

แพไข่ของยุงที่วางออกมาใหม่ๆ เป็นสีขาวนวล แล้วจะค่อยๆ มีสีคล้ำขึ้น จนเป็นสีดำในเวลา 20 – 30 นาที แพไข่แต่ละแพจะมีไข่ประมาณ 50 – 250 ฟอง ขึ้นกับอายุและความสมบูรณ์ของยุง บ่อวางไข่ที่เตรียม 1 บ่อ(กะละมัง)จะรวบรวมไข่ยุงได้วันละ ประมาณ 50 – 200 แพ

แม่ยุงที่เริ่มวางไข่ครั้งแรกๆ แพไข่อาจจะเล็กหน่อย เมื่อวางไข่ในครั้งต่อๆไป แพไข่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น และถ้าได้กินอาหารสมบูรณ์ คือได้ดูดเลือดเต็มที่ ขนาดของแพไข่จะค่อนข้างยาวมาก ให้เรารวบรวมช้อนเอาแพไข่ยุงทั้งหมด ไปฟักโดยใส่ลอยน้ำในอีกกะละมังหนึ่ง เพื่อเลี้ยงลูกน้ำในขั้นตอนต่อไป

3.การเลี้ยงลูกน้ำ

เตรียมกะละมังสำหรับเลี้ยงลูกน้ำไว้ 5 – 7 ใบ ( ต่อชุด ) แต่ละใบจะใช้สำหรับฟักไข่ยุงและเลี้ยงลูกน้ำจากไข่ยุงที่รวบรวมได้ในแต่ละวัน เพราะตัวอ่อนของยุงที่อยู่ในระยะลูกน้ำ จะมีอายุอยู่ประมาณ 5 – 7 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ จากนั้นจะเข้าสู่ระยะดักแด้เพื่อเปลี่ยนไปเป็นยุง

ในช่วงที่ลูกน้ำมีอายุ 5 – 7 วันนี้ ลูกน้ำจะกินอาหารเก่ง พร้อมทั้งมีการลอกคราบไปด้วย หากอาหารไม่เพียงพอลูกน้ำจะจับกินกันเอง อาหารที่จะใช้เลี้ยงลูกน้ำจึงควรเป็นอาหารที่มีการกระจายตัวดี ควรใช้หัวอาหารสัตว์ที่เป็นอาหารผง ได้แก่ อาหารไก่ อาหารหมู หรืออาหารเป็ดไข่ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอาหารสัตว์ทั่วไป โรยให้บริเวณผิวน้ำวันละ 2 ครั้งในตอนเช้าและเย็น

การให้อาหารลูกน้ำ ควรให้อาหารลูกน้ำให้กินเหลือได้นิดหน่อย โดยไม่ต้องระวังเรื่องน้ำเน่า หรือปริมาณออกซิเจนในน้ำจะไม่เพียงพอ เพราะลูกน้ำจะขึ้นมาหายใจบริเวณที่ผิวน้ำ ลูกน้ำจะตอดกินอาหารผง ส่วนอาหารที่เหลือจะเน่าทำให้เกิดแบคทีเรีย ซึ่งลูกน้ำก็จะสามารถกินแบคทีเรียเป็นอาหารได้ดี

สามารถสังเกตจากสีของน้ำในกะละมังเลี้ยงได้ คือ ถ้าในวันที่ 3 – 4 น้ำในกะละมังเริ่มมีสีเขียวแสดงว่ามีอาหารมากพอ แต่ถ้าน้ำยังใสเหมือนในกะละมังวันที่ 1 – 2 แสดงว่าให้อาหารน้อยไป อาหารไม่เพียงพอ ควรเพิ่มอาหารให้ลูกน้ำ

4.การเก็บเกี่ยวลูกน้ำ

ลูกน้ำที่เลี้ยงได้ 5 – 7 วัน จะมีขนาดโตเต็มที่ เหมาะสำหรับนำไปใช้เลี้ยงปลากัดได้ และมีลูกน้ำบางส่วนเปลี่ยนเข้าสู่ระยะตัวโม่ง แต่ปลาทุกชนิดก็ยังชอบกินเหมือนเดิม

เทคนิคการเก็บเกี่ยวลูกน้ำ ทำได้โดยเคาะกะละมังหรือรบกวนให้ลูกน้ำตกใจ ลูกน้ำจะหนีลงไปอยู่ก้นกะละมัง ใช้กระชอนช้อนเศษอาหารและสิ่งสกปรกต่างๆที่ผิวน้ำออก ทำซ้ำๆ จนกว่าบริเวณผิวน้ำจะสะอาด แล้วรอให้ลูกน้ำกลับขึ้นมาที่ผิวน้ำ ใช้กระชอนช้อนจะได้ลูกน้ำที่สะอาด ปราศจากเศษอาหารและสิ่งสกปรกต่างๆ

นำลูกน้ำที่ช้อนได้ ไปปล่อยในน้ำใหม่ในกะละมังขนาดเล็ก ควรแช่น้ำทิ้งไว้ 10 – 15 นาที ลูกน้ำจะถ่ายกากอาหารในตัวออก หรือเพื่อความสบายใจ อาจแช่น้ำด่างทับทิมเพื่อฆ่าเชื้อโรคเบื้องต้นด้วยก็ได้ จากนั้นจึงใช้กระชอนที่มีช่องตาประมาณ 1 มิลลิเมตร ช้อนลูกน้ำออกมา ก็จะได้ลูกน้ำที่สะอาดพร้อมที่จะนำไปใช้เลี้ยงปลากัดได้อย่างปลอดภัย

5. เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในบ่อวางไข่ยุง

วัสดุที่ใช้ในบ่อวางไข่ยุง ไม่ว่าจะเป็นเปลือกแตงโม เปลือกขนุน เปลือกมะละกอ หรือฟางข้าว ที่ใส่ลงไปหมักเพื่อให้เกิดกลิ่นล่อให้ยุงมาวางไข่นั้น จะเน่าอยู่ประมาณ 7 – 10 วัน จากนั้นการเน่าจะลดลง ซึ่งจะมีผลทำให้ยุงมาวางไข่น้อยลงด้วย จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวัสดุใหม่

โดยช้อนวัสดุเก่าออก กวนน้ำ แล้วตักทิ้งไปประมาณครึ่งหนึ่ง แล้วเติมน้ำใหม่ใส่เข้าไปให้ได้ระดับเดิม แล้วนำวัสดุทีจะใช้หมักใส่ลงไป แต่ไม่ต้องเสียเวลารอ 2 – 3 วัน เพราะน้ำเก่าที่เหลืออยู่จะยังพอมีกลิ่นและช่วยให้วัสดุที่ใส่ลงไปเน่าได้เร็วขึ้น

การเพาะเลี้ยงลูกน้ำ ควรทำวนไปแบบนี้ ไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้มีลูกน้ำปริมาณมากพอควรไว้สำหรับเลี้ยงปลากัดได้ทุกวัน จะเห็นว่าวิธีเพาะเลี้ยงลูกน้ำ ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน ใครก็ทำได้ แค่คอยหมั่นตรวจสอบเก็บแพไข่ยุงมาเลี้ยงเป็นลูกน้ำ หากต้องการปริมาณลูกน้ำมากขึ้นก็เพิ่มจำนวนบ่อวางไข่และบ่อเลี้ยงมากขึ้น

อ้างอิง: การเพาะเลี้ยงลูกน้ำ โดย รศ.ประภาส โฉลกพันธ์รัตน์ ภาควิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รายละเอียดเพิ่มเติม