Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

เลี้ยงปลากระดี่สวยงาม พันธุ์ต่าง ๆ ปลากระดี่ของไทย มีกี่ชนิด...!

ปลาสวยงามในกลุ่มปลากระดี่ Gouramis ปลากระดี่ของไทย และปลากระดี่สวยงาม สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่นิยมเลี้ยงในเมืองไทย ...

ปลากระดี่สวยงาม

ปลากระดี่ เป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันมาก เพราะเป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม มีลักษณะเด่นคือครีบอกคู่แรกเป็นเส้นยาวใช้ในการรับสัมผัส และเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย

เนื่องจากมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ เรียกว่า labyrinth organ ทำให้ปลากระดี่สามารถฮุบอากาศหายใจจากบนผิวน้ำได้โดยตรง จึงสามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำได้ดีกว่า

เลี้ยงปลากระดี่สวยงาม พันธุ์ต่าง ๆ ปลากระดี่ของไทย มีกี่ชนิด...

ปลากระดี่สวยงามสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นปลากระดี่พันธุ์พื้นเมืองของไทย และปลากระดี่จากต่างประเทศที่นิยมเลี้ยงในเมืองไทย มีอยู่หลายสายพันธุ์

รายละเอียดเพิ่มเติม

ปลากระดี่มุก Pearl Gourami

ปลากระดี่มุก มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Trichopodus leerii (Bleeker, 1852) จัดอยู่ในวงศ์ Osphronemidae มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Pearl Gourami, leeri, Mosaic Gourami

ปลากระดี่มุก มีถิ่นกำเนิดในหนอง บึง ลำห้วย ซึ่งมีพืชพรรณไม้น้ำหนาแน่น พบเฉพาะภาคกลางและภาคใต้ เป็นปลากระดี่สวยงามที่มีขนาดเฉลี่ยความยาวประมาณ 12 ซม. สามารถเลี้ยงในตู้ที่มีพรรณไม้น้ำ

ปลากระดี่มุกเป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมสูงเพราะมีสีสันสวยงาม มีการจัดประกวดทั้งในประเทศ (งานประมงน้อมเกล้าฯ) และต่างประเทศ เช่นในงาน Aquarama ประเทศสิงคโปร์

ปัจจุบันมีการคัดพันธุ์ให้มีลักษณะลำตัวสั้น หรือ shortbody ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในวงการปลาสวยงาม ลักษณะมีลำตัวเพรียวยาวและแบนข้างมาก พื้นลำตัวมีสีน้ำตาล

ตามตัวมีจุดสีขาวประกระจายอยู่ทั่วไป ที่กลางลำตัวจากปากจรดโคนหางมีแถบสีดำคาดตามความยาวลำตัว โคนหางมีจุดดำข้างละ 1 จุด ครีบมีลักษณะเรียวยาวคล้ายหนวด เกล็ดมีขนาดเล็กละเอียด

ปลากระดี่นาง Moonlight Gourami

ปลากระดี่นาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Trichopodus microlepis (Günther, 1861) จัดอยู่ในวงศ์ Osphronemidae มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Moonlight Gourami

ปลากระดี่นาง Moonlight gourami
ภาพ : zoopet.com

ปลากระดี่นาง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไป ทุกภาคของประเทศไทยและในประเทศแถบอินโดจีน มีรูปร่างคล้ายคลึงกับปลากระดี่หม้อ แต่ขนาดโดยเฉลี่ยจะใหญ่กว่า ขนาดเฉลี่ยประมาณ 13 ซม.

บริเวณลำตัวและครีบเรียบไม่มีลาย เกล็ดบริเวณลำตัวเป็นสีขาวเงิน หรือสีฟ้าอ่อน ครีบสีขาว เกล็ดด้านข้างลำตัวมีขนาดเล็ก ครีบท้องมีก้านครีบอันแรกเปลี่ยนเป็นเส้นยาว ครีบก้นยาว ครีบหางเว้าตื้น

ความแตกต่างระหว่างเพศ ปลาตัวผู้สังเกตได้จากขอบครีบท้องและขอบครีบก้นจะมีสีส้ม

ปลาสลิด Snakeskin Gourami

ปลาสลิด มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Trichopodus pectoralis Regan, 1910 จัดอยู่ในวงศ์ Osphronemidae มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Snakeskin Gourami

ปลาสลิด มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปลากระดี่ จึงมักนิยมเลี้ยงเพื่อเอาไว้บริโภค(ปลาสลิดเค็ม)ซะมากกว่าที่จะนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เนื่องจากมีขนาดใหญ่ เนื้อเยอะ ก้างน้อย กินง่าย และมีรสชาติดี

ปลากระดี่หม้อ Three-spot Gourami

ปลากระดี่หม้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichopodus trichopterus (Pallas, 1770) จัดอยู่ในวงศ์ Osphronemidae มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Three-spot Gourami

ปลากระดี่หม้อ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไปในภาคของประเทศไทย และประเทศอื่นในแถบอินโดจีน เป็นปลาสวยงามที่สามารถเลี้ยงในตู้ที่มีพรรณไม้น้ำหรือตู้ปลาทั่วๆไปได้อย่างสวยงาม

แต่เหตุที่มีชื่อเรียกเรียก Three Spot Gourami เนื่องจากนับรวมตาเข้าไปอีก 1 จุด บริเวณครีบหลัง ครีบก้นและครีบหางมีจุดสีเหลืองกระจายทั่วไป ในปลาตัวผู้ สีจะเข้มจนเป็นสีส้ม ปากมีขนาดเล็กยื่นเฉียงขึ้นด้านบน ตาโตตั้งอยู่ในระดับเดียวกับปาก

ปลากระดี่เผือก
image : youtube

ปัจจุบันมีการคัดพันธุ์ให้ได้สายพันธุ์เผือกเรียก “ปลากระดี่เผือก” และ "ปลากระดี่ทอง" ฯลฯ มีความยาวเฉลี่ยประมาณ 10 ซม.

ลักษณะมีลำตัวเพรียวยาวและแบนข้างมาก พื้นลำตัวมีสีเทาอ่อนหรือสีเหลืองอ่อน มีแถบสีน้ำตาลอมเทาพาดเฉียงตลอดลำตัว ด้านข้างลำตัวมีจุดสีส้มอมน้ำตาลหรือสีดำขนาดใหญ่ 2 จุด อยู่บริเวณกึ่งกลางลำตัว 1 จุด บริเวณโคนครีบหางอีก 1 จุด

ปลากระดี่นางฟ้า Blue Gourami, Cosby strain

ปลากระดี่นางฟ้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichopodus trichopterus (Pallas, 1770) จัดอยู่ในวงศ์ Osphronemidae มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Blue Gourami

ปลากระดี่นางฟ้า เป็นปลาสวยงามที่มีลักษณะคล้ายกับปลากระดี่หม้อ มีลำตัวแบนข้างมาก เกล็ดมีขนาดเล็กละเอียด พื้นลำตัวมีสีฟ้าสลับด้วยลวดลายสีฟ้าอมน้ำเงินจนถึงดำ

ครีบอกมีลักษณะเรียวยาวคล้ายหนวด ครีบหลังและครีบทวารมีก้านครีบที่แหลมคม มีนิสัยปราดเปรียวและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ได้รับความนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามเพราะมีสีสวยงาม มีความยาวเฉลี่ยประมาณ 12 ซม.

ปลากระดี่แคระ Dwarf Gourami

ปลากระดี่แคระ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster lalius (Hamilton, 1822) จัดอยู่ในวงศ์ Osphronemidae มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Dwarf Gourami

ปลากระดี่แคระ เป็นปลาสวยงามที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียบัง คลาเทศ และปากีสถาน เป็นปลากระดี่สวยงามต่างประเทศที่สามารถเลี้ยงในตู้ที่มีพรรณไม้น้ำ ตู้ธรรมดาที่ตกแต่งอย่างสวยงามและยังเลี้ยงร่วมปลาชนิดอื่นได้

ลักษณะมีลำตัวเพรียวแบนข้าง พื้นลำตัวมีสีน้ำตาล แดง อมเขียว มีแถบลายแดงคาดอย่างเป็นระเบียบ เกล็ดเล็กละเอียด ครีบอกเรียวยาวคล้ายหนวด ชอบลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ อยู่ที่ระดับผิวน้ำ มีอวัยวะพิเศษช่วยหายใจ โดยใช้วิธีฮุบอากาศ เหนือผิวน้ำเพื่อหายใจ ไม่ต้องผ่านช่องเหงือก จึงสามารถดำรงชีวิตได้ เมื่ออยู่ในที่แคบ ๆ หรือที่ที่มีปริมาณ ออกซิเจนต่ำ

ปลากระดี่แคระ เป็นปลาที่มีรูปร่างแบนข้างมาก ลำตัวมีแถบสีเขียวหรือสีน้ำเงินอ่อนสลับกับสีส้มแดงทั่วทั้งตัว รวมถึงบริเวณครีบต่าง ๆ ด้วย ทำให้ปลากระดี่แคระมีสีสันสดใส สวยงามมากกว่าปลากระดี่ชนิดอื่น ๆ 

และเมื่อโตเต็มที่ มีขนาดเพียง 5-7 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีขนาดเล็กที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มปลากระดี่ในสกุลเดียวกัน จึงเป็นที่มาของชื่อ ปลากระดี่แคระ นั่นเอง

ปลากระดี่แคระ ไม่ใช่ปลาพื้นถิ่นของไทย พบแพร่กระจายทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ปัจจุบันมีการเพาะขยายพันธุ์และพัฒาสายพันธุ์จนได้ปลาที่มีสีหลากหลายมากขึ้น เช่น ปลากระดีแคระที่ไม่มีลวดลายบนตัว แต่จะมีสีส้มแดงตลอดทั้งตัวแทน หรือที่เรียกกันในชื่อ "ปลากระดี่นีออน"

ปลากระดี่โคบอลท์(เคลือบฟ้า) Blue Cobalt Dwarf Gourami

ปลากระดี่โคบอลท์ หรือปลากระดี่เคลือบฟ้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster lalius (Hamilton, 1822) จัดอยู่ในวงศ์ Osphronemidae มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Cobalt Blue Dwarf gourami

ปลากระดี่โคบอลท์(เคลือบฟ้า) Blue Cobalt Dwarf Gourami
image : beke.co.nz

ปลากระดี่โคบอลท์ หรือ ปลากระดี่แคระเคลือบฟ้า เป็นปลาที่ได้จากการพัฒนาสายพันธุ์จากการเพาะเลี้ยง เป็นปลากระดี่ที่ถูกปรับปรุงสายพันธุ์

สามารถเลี้ยงในตู้ที่มีพรรณไม้น้ำ ตู้ธรรมดาที่ตกแต่งอย่างสวยงามและยังเลี้ยงร่วมปลาชนิดอื่นได้ ลักาณะมีลำตัวแบนข้างมาก ครีบหน้าอกยาว 2 ส้น ลำตัวสีฟ้า (โคบอลท์) เคลือบทั้งตัวรวมทั้งครีบทุกครีบ ครีบหางและ ครีบท้องขอบครีบมีสีดำ

ปลากระดี่แดง Red Dwarf Gourami

ปลากระดี่แดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster chuna (Hamilton, 1822) จัดอยู่ในวงศ์ Osphronemidae มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Red Dwarf Gourami, Honey Gourami

ปลากระดี่แดง พบแพร่กระจายในแถบเอเชีย มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย และบังคลาเทศ บริเวณแหล่งน้ำสะอาดและมีพรรณไม้น้ำขึ้นหนาแน่น

นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามที่สามารถเลี้ยงในตู้ที่มีพรรณไม้น้ำ ตู้ธรรมดาที่ตกแต่งอย่างสวยงามและยังเลี้ยงร่วมปลาชนิดอื่นได้ ลักษณะนิสัยค่อนข้างก้าวร้าว ชอบอยู่รวมฝูงกันเอง แต่ไม่ชอบรวมกลุ่มกับปลาชนิดอื่น ๆ หากเป็นฤดูผสมพันธุ์ปลาจะยิ่งทวีความก้าวร้าวมากขึ้น

ปลากระดี่แดง หรือ ปลากระดี่ไฟ มีลักษณะคล้ายปลากระดี่แคระ แต่มีรูปร่างยาวกว่า ลักษณะคือ สีของลำตัวจะมีสีแดง สีส้ม หรือสีเหลือง และไม่มีลวดลายบนลำตัว ช่วงท้องมีสีจางจนเป็นสีขาว ครีบท้องทั้งสองด้านมีลักษณะยาวคล้ายหนวด ขนาดเมื่อโตเต็มที่ ตัวผู้จะมีขนาดประมาณ 5 เซนติเมตร ตัวเมียมีขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร

โดยฤดูผสมพันธุ์ปลาตัวผู้จะมีสีสด สวยงามมากขึ้น บริเวณคอและครีบต่าง ๆ ยกเว้นครีบหางจะมีสีส้มสดกว่าปกติเพื่อใช้ดึงดูดความสนใจจากปลาตัวเมีย

ปัจจุบันมีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ปลากระดี่แดง จนได้ปลาสีแดงตลอดทั้งตัว เรียกว่า “red honey gourami” ซึ่งปกติจะมีลำตัวเป็นสีแดงจาง ๆ แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ลำตัวของปลาตัวผู้จะมีสีแดงเข้มหรือสีส้ม

ปลากระดี่ลายบั้ง, ปลากระดี่ยักษ์ Banded Gourami, Giant Gourami

ปลากระดี่ลายบั้ง หรือ ปลากระดี่ยักษ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster fasciata Bloch & Schneider, 1801 จัดอยู่ในวงศ์ Osphronemidae มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Banded Gourami, Giant Gourami, Striped Gourami

ปลากระดี่ลายบั้ง มีลักษณะรูปร่างแบนข้าง มีลายบั้ง สีสันสวยงามสะดุดตา ดูคล้ายปลากระดี่แคระ แต่มีขนาดของลำตัวยาวกว่า บริเวณลำตัวมีสีส้มอมเหลือง มีแถบสีฟ้าครามพาดเป็นแนวขวางกับลำตัวเรียง

กันเป็นบั้ง ตั้งแต่อกไปจนถึงหาง เมื่อโตเต็มที่มีขนาดลำตัวที่มีขนาดใหญ่ได้ถึงประมาณ 12 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในกลุ่มปลากระดี่ในสกุลเดียวกัน(Trichogaster) จึงมีอีกชื่อว่า ปลากระดี่ยักษ์

ปลากระดี่ลายบั้ง พบแพร่กระจายในประเทศอินเดีย บังคลาเทศ และพม่า และอาจพบได้ในประเทศอื่นในคาบสมุทรมลายูด้วย เป็นปลาที่ได้รับนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามและส่งออกไปทั่วโลก จนในปัจจุบันพบแพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติในหลายพื้นที่ของประเทศสหรัญอเมริกาด้วย

ปลากระดี่ปากหนา Thick lipped Gourami

ปลากระดี่ปากหนา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster labiosa Day, 1877 จัดอยู่ในวงศ์ Osphronemidae มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Thick lipped Gourami

ปลากระดี่ปากหนา Thick lipped gourami
image : ffish.asia

ปลากระดี่ปากหนา เป็นปลากระดี่ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนักในประเทศไทย เป็นปลากระดี่ที่มีลำตัวป้อมกลมกว่าปลากระดี่ชนิดอื่นๆที่พบในประเทศไทย

สีของลำตัวแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะมีสีคล้ำ หรือสีน้ำตาลเข้มอมส้ม ส่วนท้องมีสีเขียวเข้ม มีแถบสีส้มแกมน้ำตาลสลับสีฟ้าคราม พาดขวางเป็นลายบั้งตลอดทั้งบริเวณลำตัว ครีบหางเป็นรูปพัดมีสีส้มคล้ำ ๆ ครีบอกเป็นเส้นยาว ครีบท้องมีสีส้มแดง ครีบก้นมีสีฟ้าอ่อน และมีขอบครึบเป็นสีขาวหรือสีส้ม ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 9 เซนติเมตร

ปลากระดี่ปากหนา พบแพร่กระจายอยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า บางคนจึงเรียกว่า "ปลากระดี่พม่า" ต่อมาภายหลังมีการนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอย่างแพร่หลาย

ปัจจุบันพบแพร่กระจายในประเทศโคลัมเบียด้วย สำหรับในประเทศไทยมีรายงานพบเพียงครั้งเดียวในประเทศไทยในลุ่มแม่น้ำสาละวิน โดยคุณกิตติพงษ์ จารุธานินทร์ นอกจากนี้ยังได้มีการนำไปพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์จนได้ปลากระดี่สายพันธุ์ใหม่ มีลำตัวเป็นสีทอง สีแดง และสีเขียว เรียกว่า “red robin gourami”

ปลากระดี่สวยงาม ยังมีอีกหลายสายพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำเสนอในโอกาสต่อไปจ้า

อ้างอิง: กรมประมง

รายละเอียดเพิ่มเติม