เรื่องน่ารู้ก่อนเลี้ยงชินชิล่า ลักษณะ นิสัย วิธีเลี้ยง อาหาร ราคาถูก!

วันนี้จะพาเพื่อนๆมาทำความรู้จัก “ชินชิล่า” สัตว์เลี้ยงขนนุ่ม ถ้ารู้จักแล้วจะรักจนถอนตัวไม่ขึ้น ชินชิล่า ชื่อแปลกหู หน้าเหมือนหนู หูเหมือนกระต่าย ทำให้หลายคนเห็นแวปแรกก็แปลกใจว่าคือตัวอะไร ซึ่งชินชิล่า 

จัดเป็นสัตว์เลี้ยงประเภทสัตว์ฟันแทะที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แถมมีสมญานามว่าเป็น "สัตว์ที่มีขนนุ่มที่สุดในโลก" ใครกำลังมองหาสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ ลองมาทำความรู้จักหนูชินชิล่า ตัวอ้วนกลม ขนปุกปุยกันเลย

เรื่องน่ารู้ก่อนจะเลี้ยงหนูชินชิล่า

1. ต้นกำเนิดของชินชิล่า

ชินชิล่า เป็นสัตว์ฟันแทะที่มีต้นกำเนินอยู่บนเทือกเขาแอนดีสทางตอนเหนือของประเทศชิลี ด้วยความที่ชินชิล่าเป็นสัตว์ที่มีขนนุ่มสวย จึงเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 และเกือบสูญพันธุ์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19

ชินชิล่า สัตว์ขนนุ่มที่สุดในโลก

หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1923 Mathias F. Chapman วิศกรเหมืองแร่ชาวอเมริกา ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลประเทศชิลี ให้นำชินชิล่ากลับมายังประเทศอเมริกา โดยเขาได้นำมาทั้งสิ้น 11 ตัว ปัจจุบันชินชิล่าที่พบในประเทศอเมริกา คือลูกหลานของชินชิล่าทั้ง 11 ตัวนี้นี่เอง

รายละเอียดเพิ่มเติม

2. ลักษณะของชินชิล่า

ชินชิล่ามีขาหน้ายาว แต่ขาหลังสั้น เหมือนพวกหนูตะเภา ลักษณะโดยรวมคล้ายกระต่าย แต่หูสั้นและกลมกว่า มีดวงตากลมใหญ่ ในตาสีดำ หางเป็นพวง ขนาดตัวของชินชิล่าความยาวอยู่ที่ประมาณ 23 – 38 เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 0.5 – 0.8 กิโลกรัม สามารถมีอายุเฉลี่ย 10 ปี

3. นิสัยของหนูชินชิล่า

ชินชิล่าเป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน ดังนั้นในระหว่างวันจะเป็นเวลาพักผ่อนและเริ่มออกมาวิ่งเล่นตอนเย็น ๆ ตามธรรมชาติจะอาศัยรวมกันเป็นฝูง

นิสัยของหนูชินชิล่า เป็นสัตว์ที่รักสงบ และสามารถกระโดดได้สูงกว่า 5 ฟุต มีความกระตือรือร้น ขี้สงสัย ชอบสำรวจ และชอบกัดแทะ ไม่ควรเลี้ยงแบบปล่อยเพราะอาจทำให้ข้าวของเสียหาย หรืออาจจะเป็นอันตรายต่อชินชิล่าเองได้ด้วย

4. อาหารของชินชิล่า

  • อาหารเม็ดสำเร็จรูป เป็นอาหารสัตว์เล็กที่ทำมาจากพืชที่ชินชิล่าต้องการ ส่วนใหญ่ทำมาจากหญ้าทิโมธี เมล็ดแฟรกซ์ พริกหยวก และพืชอื่น ๆ ที่ให้ใยอาหารสูง
  • หญ้าแห้ง ส่วนใหญ่จะเป็นหญ้าธิโมที หญ้าอัลฟาฟ่า หญ้าเฮย์ หญ้าออร์ชาร์ด หญ้าโบตานิคอล หรือต้นข้าวสาลี
  • ขนม ชินชิล่าสามารถทานขนมได้หลากหลาย เช่น ลูกเกด ผลแอปเปิ้ลอบแห้ง และอัลมอนด์ไม่ใส่เกลือหรือปรุงรสใด ๆ

*ข้อห้ามคือ ไม่ควรให้ผักและผลไม้สดแก่ชินชิล่า เพราะจะทำให้ท้องอืด และตายได้*

5. อุปกรณ์ในการเลี้ยงชินชิล่า

  • กรง สำหรับกรงที่ใช้เลี้ยงชินชิล่า ไม่ควรใช้กรงที่เป็นพื้นลวด เพราะจะทำให้ชินชิล่าบาดเจ็บได้ ควรเลือกพื้นกรงที่เป็นพื้นไม้ หรือพื้นหินเรียบ ขนาดกรงพอตัว ให้ชินชิล่าได้เดิน ขยับตัว แต่ไม่ต้องใหญ่เกินไป ซี่กรงไม่ควรกว้างเกิน 3 ซม. หลีกเลี่ยงกรงที่ใช้สีเคลือบกรง
  • ถ้วยอาหาร ควรใช้ภาชนะที่เซรามิก และมีน้ำหนักมากพอ เพื่อไม่ให้ถ้วยอาหารพลิกคว่ำ
  • ทรายอาบน้ำ จำเป็นจะต้องใช้ทรายอาบน้ำที่เป็นขี้เถ้าภูเขาไฟเท่านั้น เป็นทรายคนละชนิดกับทรายอาบน้ำของหนูแฮมสเตอร์  สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายของสัตว์เลี้ยง
  • ขวดน้ำ สามารถเลือกซื้อขวดน้ำสัตว์เลี้ยงขนาดเล็กแบบติดกรงได้ ชินชิล่าเป็นสัตว์ที่ดื่มน้ำไม่เยอะ จึงไม่จำเป็นต้องซื้อขวดใหญ่
  • บ้านไม้ ชินชินล่ามีนิสัยชอบอาศัยอยู่ตามโพรงต่าง ๆ เพื่อให้หนูชินชิล่ารู้สึกปลอดภัย ควรเลือกบ้านไม้มาใส่ไว้ในกรง ควรเป็นไม้ที่ไม่มียาง

6. สถานที่ในการเลี้ยงชินชิล่า

แม้ว่าชินชิล่าจะเป็นสัตว์เมืองหนาว แต่ไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ให้อยู่ตลอดเวลา เพราะชินชิล่าสามารถปรับตัวได้ เพียงแต่สถานที่เลี้ยงไม่ควรเลี้ยงไว้นอกบ้าน ตากแดด ห้ามเลี้ยงในที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท อากาศร้อนชื้นและไม่ถ่ายเทสามารถทำให้ชินชิล่าเกิดอาการ Heat Stroke ได้ หากเลี้ยงเพียง 1 – 2 ตัว สามารถเปิดพัดลมให้ตลอดเวลาได้ หรือเปิดแอร์สลับกับการเปิดพัดลมก็ได้เช่นกัน หากเลี้ยงแบบเปิดแอร์ตลอด ควรให้ชินชิล่าได้อาบน้ำด้วยทรายบ่อยขึ้น เพื่อให้ขนสวย ไม่จับเป็นก้อน

7. วิธีเลี้ยงชินชิล่า

  • ปล่อยให้ชินชิล่าออกมาเดินเล่นนอกกรงวันละประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อลดอาการเครียด เนื่องจากชินชิล่าเป็นสัตว์ที่ชอบสำรวจ
  • ควรให้ชินชิล่าอาบน้ำด้วยทรายสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง ครั้งละ 10 นาที เพื่อให้ขนสวยสะอาด
  • โรคที่ควรระวังในชินชิล่าคือ โรคทางเดินอาหาร และโรคเชื้อราที่ผิวหนัง ดังนั้นไม่ควรให้อาหารที่ไม่คุ้นเคย หรือเลี้ยงในพื้นที่ชื้นเกินไป

บทสรุปส่งท้าย

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่เริ่มมีใจให้สัตว์เลี้ยงน่ารักอย่าง “ชินชิล่า” แล้วล่ะก็ ลองศึกษาเพิ่มเติม ทั้งเรื่องของการดูแล อาหารการกิน

แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราสามารถเลี้ยงดูชินชิล่าหนึ่งตัวได้ตลอดชีวิตของเขาหรือไม่ สามารถดูแลกรงเลี้ยง ทำความสะอาด และให้อาหารได้ตลอดหรือเปล่า หากมั่นใจแล้ว ก็ลองไปคุยกับทางฟาร์มที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้ชินชิล่าสุขภาพดีมาเลี้ยงดูได้เลย

ที่มา: Shopee Blog

รายละเอียดเพิ่มเติม