Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

วิธีเพาะเลี้ยงโรติเฟอร์แบบง่าย อาหารลูกปลากัด ให้รอดเยอะๆ..!

วิธีเพาะเลี้ยงโรติเฟอร์ แพลงก์ตอนสัตว์ อาหารสดมีชีวิต อนุบาลลูกปลากัด โปรตีนสูง อาหารโรติเฟอร์ แหล่งที่อยู่อาศัย วงจรชีวิต การแพร่ขยายพันธุ์

วิธีเพาะโรติเฟอร์ อาหารลูกปลากัด

โรติเฟอร์ เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมาก นิยมนำมาให้สัตว์น้ำวัยอ่อนกินเป็นอาหาร ซึ่งสามารถนำมาใช้เลี้ยงอนุบาลลูกปลากัด และปลาสวยงามได้เป็นอย่างดี เพราะไรติเฟอร์มีขนาดเล็กพอดี พอเหมาะที่ลูกปลากัดจะกินได้

สำหรับตัวโรติเฟอร์เองนั้น กินแพลงก์ตอน พืชที่มีสีเขียว เป็นอาหาร โดยส่วนมากมีทั้งโรติเฟอร์น้ำจืด และโรติเฟอร์น้ำเค็ม ซึ่งอยู่ในสกุล Brachionus วงศ์ Brachionidae

วิธีเพาะเลี้ยงโรติเฟอร์แบบง่าย อาหารลูกปลากัด ให้รอดเยอะๆ...

จากการศึกษาพบว่า มีโรติเฟอร์แพร่กระจายอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งในโลก ทั้งนี้เป็นเพราะโรติเฟอร์มีการปรับตัวหรือมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปได้ตามฤดูกาลได้ เรียกว่า ไซโคลมอร์โฟซีส (cyclomorphosis)

การปรับตัวของโรติเฟอร์ กระทำได้โดยการปรับน้ำหนักให้ลดลง ปรับตัวให้มีระยางค์ที่ช่วยในการลอยตัวและว่ายน้ำ มีการปรับตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ไข่จม โดยไข่จะติดกับตัวแม่

รายละเอียดเพิ่มเติม

โรติเฟอร์ นอกจากอาศัยอยู่ในน้ำ โดยแพร่กระจายอยู่ทั่วไป ทุกระดับความลึกของน้ำแล้ว ยังสามารถอาศัยอยู่บนพืช เช่น มอส หรือไลเคน ซึ่งโรติเฟอร์เหล่านี้สามารถฟักออกจากไข่เป็นตัวได้ ก็เฉพาะเมื่อใดที่มีฝนหรือน้ำค้างมาขังในที่ ๆ มันอาศัยอยู่เท่านั้น

เมื่อเริ่มแห้ง โรติเฟอร์เหล่านี้ก็จะเริ่มสร้างไข่ระยะพักตัว (resting egg) ขึ้นมาทันที และไข่จะฟักออกมาเป็นตัวเมื่อมีน้ำมาขังอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ไข่ของโรติเฟอร์สามารถอาศัยอยู่ได้ตามซอกใบไม้ได้นาน 3-4 ปี

โรติเฟอร์เกือบทั้งหมด จัดเป็นสัตว์กินพืชและสัตว์ ส่วนใหญ่จะกินแพลงก์ตอนพืชพวกเซลล์เดี่ยว ๆ และแบคทีเรีย บางครั้งกินซากสิ่งมีชีวิตและตะกอนต่าง ๆ (detritus) กินอาหารโดยพัดอาหารเข้าปาก เป็นการกินอาหารด้วยการกรอง และมักกินตลอดเวลา

การดำรงชีวิตของโรติเฟอร์ นอกจากจะเป็นแพลงก์ตอนแล้ว ยังเป็นปรสิตของสัตว์อื่น เช่น เป็นปรสิตที่เกาะอาศัยอยู่ตามเหงือกของครัสตาเชียน บางชนิดเป็นปรสิตในไข่ของหอย และสัตว์น้ำอื่น ๆ

โรติเฟอร์ที่นำมาอนุบาลสัตว์น้ำจืด เป็นสายพันธุ์โรติเฟอร์น้ำจืด ชนิด Brachionus calycitorus อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ บริเวณแม่น้ำลำคลอง

โรติเฟอร์ มีคุณค่าอาหารสูง โดยมีโปรตีน 58-72% ไขมัน 21-31% ของน้ำหนักแห้ง เคลื่อนที่ช้า แพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว ด้วยวิธีสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ จึงเพิ่มจํานวนในเวลาสั้นๆ เป็นตัวนําที่ดีของอาหารเสริม เช่น กรดไขมัน

ช่วงชีวิตของโรติเฟอร์ ประมาณ 3.4-4.4 วัน ที่อุณหภูมิ 25°C ตัวอ่อนใช้เวลา 0.5-1.5 วัน เติบโตเป็นตัวเต็มวัย ในสภาวะปกติ โรติเฟอร์เกือบทั้งหมดเป็นเพศเมีย หลังจากฟักเป็นตัวได้ประมาณ 12 ชั่วโมง โรติเฟอร์จะเริ่มมีไข่ หลังจากนั้นประมาณ 8 ชั่วโมง ไข่จะฟักเป็นตัว ตลอดชั่วอายุของตัวแม่โรติเฟอร์จะให้ตัวอ่อน 29-30 ตัว

เมื่อสภาวะสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เช่น อาหารลดลง หรืออุณหภูมิของน้ำเย็นลง โรติเฟอร์จะเปลี่ยนวิธีสืบพันธุ์เป็นแบบมีเพศ คือเมื่อโรติเฟอร์เพศผู้ ผสมพันธุ์กับ โรติเฟอร์เพศเมีย ก็จะเกิดไข่ฟัก (Resting egg) ซึ่งเราสามารถเก็บไข่โรติเฟอร์ไว้ในตู้เย็นได้ทั้งในสภาวะที่อยู่ในน้ำและในสภาพไข่แห้ง

สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของโรติเฟอร์

  • ความเค็มของน้ำ ไม่เกิน 35 ส่วนในพัน
  • ออกซิเจนในน้ำ ไม่ต่ำกว่า 2 มก./ล.
  • ค่าพีเอช 7.5 
  • แอมโมเนีย(NH3) ต่ำกว่า 1มก./ล.
  • อุณหภูมิ 25-30°C

โรติเฟอร์กินอาหารได้หลายชนิด ได้แก่ สาหร่ายขนาดเล็ก (microalgae) ยีสต์ แบคทีเรีย และตะกอนในน้ำ แต่อาหารที่ดีที่สุดในการเลี้ยงโรติเฟอร์คือ คลอเรลลาทะเล และ ยีสต์ขนมปัง

นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัย เรื่อง ผลของอุณหภูมิต่อการสืบพันธุ์อายุขัย และขนาดตัวของ Brachionus calyciflorus Pallas โดย ศุจีภรณ์ อธิบาย ได้สรุปไว้ว่า แม่พันธุ์ B. calyciflorus ที่เลี้ยงภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส สามารถผลิตลูกได้มากกว่าแม่พันธุ์ที่เลี้ยงในอุณหภูมิ 20 และ 25 องศาเซลเซียส

ถึงแม้ว่าจะมีระยะวัยสืบพันธุ์ที่ไม่แตกต่างกับอุณหภูมิอื่น แต่ปริมาตรลําตัว และปริมาตรไข่ของลูกพันธุ์มีขนาดเล็กกว่า ที่อุณหภูมิ 20 และ 25 องศาเซลเซียส

ในทางตรงกันข้ามอายุขัย ระยะวัยอ่อนของแม่พันธุ์ที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส จะสั้นกว่าที่อุณหภูมิอื่น แสดงให้เห็นว่าแม่พันธุ์ที่อุณหภูมิ30 องศาเซลเซียส เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เร็วกว่าที่อุณหภูมิอื่น

ลูกที่เกิดจากแม่พันธุ์ที่อุณหภูมิต่างกันมีขนาดตัวและความยาวหนามที่แตกต่างกัน ที่อุณหภูมิ20 องศาเซลเซียส ลูกพันธุ์มีขนาดใหญ่และหนามยาวกว่าที่อุณหภูมิ25 และ 30 องศาเซลเซียส

ลูกพันธุ์ทุกตัวที่เกิดจากแม่พันธุ์ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส มีหนามส่วนท้ายด้านข้าง แต่ที่อุณหภูมิ 25 และ 30 องศาเซลเซียส พบลูกที่มีหนาม ส่วนท้ายด้านข้าง เพียง 27.8 % และ 5 % ตามลําดับ

การที่โรติเฟอร์มีหนามยาว อาจจะไม่เหมาะสมที่จะนําไปใช้อนุบาลสัตว์นํ้าวัยอ่อน เพราะลูกปลาบางชนิด ชอบกินโรติเฟอร์ที่มีหนามสั้น จึงกล่าวได้ว่าอุณหภูมิมีผลต่อการสืบพันธุ์ การเจริญเติบโต อายุขัย ขนาดตัว และความยาวหนามของ B. calyciflorus

ในการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ควรเลี้ยง B. calyciflorus ในสภาวะภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และมีการควบคุมอุณหภูมิให้มีความคงที่ตลอดการเพาะขยายพันธุ์ในปริมาณมาก เพราะจะได้ผลผลิตสูง

วิธีการเพาะเลี้ยงโรติเฟอร์

การเพาะโรติเฟอร์ มีวิธีการและขั้นตอนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่า สภาวะแวดล้อมในขณะนั้น มีความเหมาะสมเพียงใด และการใช้วิธีการและสูตรอาหารที่แตกต่างกัน ซึ่งอาหารของโรติเฟอร์ก็คือ น้ำเขียว หรือ สาหร่ายคลอเรลลา นั่นจึงเป็นเหตุผลที่มักจะพบโรติเฟอร์ปะปนอยู่ในบ่อน้ำเขียวที่ใช้เลี้ยงไรแดง นั่นเอง

การเพาะเลี้ยงโรติเฟอร์ จึงคล้ายกับการเพาะเลี้ยงไรแดง คือเมื่อสีของน้ำเขียวเข้มๆ ดีแล้ว ก็สามารถใส่โรติเฟอร์ลงไปในบ่อ แล้วเป่าปั๊มลม โรติเฟอร์จะกินน้ำเขียว และขยายพันธุ์ จนสีของน้ำเขียวเปลี่ยนเป็นสีชา สามารถกรองโรติเฟอร์ไปใช้อนุบาลลูกปลาได้ โดยกรองด้วยผ้ากรองขนาด 69 ไมครอน หรือเล็กกว่า

ที่มา : สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา, ผลของอุณหภูมิต่อการสืบพันธุ์อายุขัย และขนาดตัวของ, Brachionus calyciflorus Pallas โดย ศุจีภรณ์ อธิบาย, การผลิตโรติเฟอร์แบบความหนาแน่นสูง, กรมประมง

รายละเอียดเพิ่มเติม