*ดูราคา อาหารปลา อุปกรณ์เลี้ยงปลาสวยงาม ...
👉 ดูเพิ่มเติมที่ร้านค้า

Photo by : Arunee Rodloy
ปลาก้างพระร่วง (Glass catfish)
ปลาก้างพระร่วง ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Kryptopterus vitreolus Ng & Kottelat, 2013 เป็นสัตว์ในกลุ่มปลา ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในสกุล Kryptopterus ซึ่งถูกจัดอยู่ในวงศ์ Siluridae
ปลาก้างพระร่วง มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Glass catfish และยังมีชื่ออื่น คือ ปลาผี, ปลากระจก
ลักษณะ ปลาก้างพระร่วง
ลักษณะเด่น
"ปลาก้างพระร่วง หรือ ปลาผี" มีลักษณะโดดเด่นคือบริเวณลำตัวเนื้อปลาจะมีความโปร่งใส ทำให้มองเห็นกระดูกหรือก้างภายในตัวได้อย่างชัดเจน จึงมีชื่อเรียกว่าปลาผี หรือ ปลากระจก (Glass catfish)
ส่วนชื่อก้างพระร่วง นั้น มีเรื่องเล่ากันมาว่า พระร่วงได้เสวยปลาชนิดนี้จนเหลือแต่ก้าง จึงทิ้งลงน้ำและกล่าววาจาสัจว่า ขอให้ปลาตัวนี้ฟื้นชีพขึ้นมา จึงได้ตั้งชื่อว่า "ปลาก้างพระร่วง"
เนื่องจากเป็นปลาที่มีลักษณะแปลก สวยงาม เลี้ยงง่าย จึงได้รับความนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และได้รับความนิยมเลี้ยงทั่วโลก
ลักษณะทั่วไป
ปลาก้างพระร่วง มีลักษณะลำตัวยาวแบนข้าง มีหนวด 2 คู่ หนวดคู่แรกอยู่บนขากรรไกรบน มีขนาดยาวและชี้ไปด้านหน้า ส่วนหนวดคู่ที่ 2 มีขนาดสั้น อยู่บนขากรรไกรล่าง ครีบหลังมีขนาดเล็กและสั้นมากแทบมองไม่เห็น ครีบก้นยาวตลอดจนถึงครีบหาง
หัวมีขนาดเล็ก จะงอยปากสั้น ตากลมโต เนื้อปลาจะมีลักษณะโปร่งแสง ทำให้มองเห็นก้างภายในตัวได้อย่างชัดเจน มีเฉพาะส่วนของหัวและกระเพาะอาหารเท่านั้นที่ทึบแสง ขนาดเฉลี่ยความยาวประมาณ 8 ซม. ขนาดใหญ่สุดความยาวประมาณ 15 ซม.
อาหารปลาก้างพระร่วง กินอะไร
ปลาก้างพระร่วง กินไรน้ำ แพลงก์ตอนสัตว์ เป็นอาหาร
ถิ่นอาศัย
ปลาก้างพระร่วง มีถิ่นอาศัยในแหล่งน้ำไหล เคยมีรายงานพบในแหล่งน้ำตามธรรมชาติในภาคกลางพบที่จังหวัดนครนายก จันทบุรีและตราด แต่ปัจจุบันพบเฉพาะทางภาคใต้พบแถบจังหวัด พัทลุง และสงขลา
วิธีเลี้ยงปลาก้างพระร่วงในตู้ปลา
การเลี้ยงปลาก้างพระร่วง สามารถเลี้ยงในตู้ที่ตกแต่งด้วยพรรณไม้น้ำ เป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง ปัจจุบันการส่งออกยังมีการรวบรวมจากธรรมชาติ ปัจจุบันเพาะพันธุ์ได้ แต่ยังไม่ได้ในปริมาณมาก
สถานภาพ
ปลาก้างพระร่วงถูกจับรวบรวมจากที่อยู่อาศัยในธรรมชาติเพื่อส่งขายต่างประเทศ ทำให้มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ กรมประมงได้มีมาตรการในการดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำสวยงามโดยการควบคุมปริมาณการส่งออกรวมทั้งศึกษาวิจัยด้านการเพาะพันธุ์ให้สำเร็จจนได้ปริมาณเพียงพอ
และกรมประมงมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงามเพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ เพื่อลดการจับจากธรรมชาติ รวมทั้งเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรปลาสวยงามไทยให้ยังคงอยู่ต่อไป
อ้างอิง: กลุ่มวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ