Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

วิธีสกัดสารแทนนินจากใบหูกวาง น้ำหมักใบหูกวาง เลี้ยงปลากัด.!

วิธีทำสารสกัดแทนนินจากใบหูกวางอย่างง่าย และการประยุกต์ใช้ในปลาสวยงาม ช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำ รักษาแผลและการงอกของหางปลากัด ใช้ในการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม ...

สารแทนนิน น้ำหมักใบหูกวาง

ใบหูกวางมีปริมาณสารแทนนิน (Tannins) อยู่ถึง 12.67 เปอร์เซ็นต์ นำมาใช้ประโยชน์ในการลดแอมโมเนียในน้ำสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดแอมโมเนียในน้ำแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้ใบหูกวางที่เป็นพืชท้องถิ่นที่พบอยู่ทั่วไปในพื้นที่ชายหาด เป็นวิธีใช้ธรรมชาติบำบัดเพื่อลดปัญหาคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อม

สารกลุ่มแทนนิน (Tannins) ที่ได้จากใบหูกวางนี้มีรายงานว่าสามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ค่าคุณภาพน้ำจากที่ต่ำกว่ามาตรฐานกลับมามีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนด (ค่าต่ำสุดที่สิ่งมีชีวิตจะดำรงชีวิตอยู่ได้)

และช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในน้ำให้หมดไปภายใน 21 วัน โดยไม่มีผลต่ออุณหภูมิ ค่า pH การละลายของออกซิเจนในน้ำ และการละลายของฟอสฟอรัสในน้ำ ส่วนปริมาณแอมโมเนียและไนไตรท์ลดลง (สมจินตนา และวรวัฒ, 2550)

ใบหูกวางแห้ง สำหรับหมักปลากัด

ซึ่งสอดคล้องกับภูมิปัญญาชาวบ้านตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบันที่มีการนำเอาใบหูกวางแห้งแช่ในขวดหมักปลากัด ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยป้องกันโรคให้ปลามีสุขภาพแข็งแรง

รายละเอียดเพิ่มเติม

นอกจากนี้ นันทริกา (2549) รายงานผลการศึกษาประสิทธิภาพของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและใบหูกวางแห้งต่อการงอกของหางและค่าเม็ดเลือดแดงอัดแน่นในปลาคาร์ฟ

พบว่ากลุ่มปลาคาร์ฟที่มีการเสริมสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีการงอกของหางได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ไม่มีความแตกต่างกันของกลุ่มที่เลี้ยงในน้ำแช่ใบหูกวางแห้ง

วิธีการเตรียมสารสกัดและการนำสารสกัดแทนนินจากใบหูกวางไปประยุกต์ใช้

1) การสกัดสารแทนนินจากใบหูกวางโดยวิธีการหมักกับน้ำ

เมื่อทำการแช่หมักใบหูกวางแห้ง (เก็บใบหูกวางแห้งนามาล้างน้ำทำความสะอาดและนำไปอบที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส หรือตากให้แห้ง ) ที่ระยะเวลาและน้ำหนักต่างกัน พบว่า ปริมาณใบหูกวาง และระยะเวลาที่ต่างกันส่งผลให้ได้ความเข้มข้นของสารแทนนินต่างกัน

โดยความเข้มข้นของแทนนินมีมากที่สุดในระยะเวลาการแช่ที่14 วัน โดยชุดที่แช่ใบหูกวาง 30 กรัมต่อลิตร มีความเข้มข้นของแทนนินสูงที่สุด รองลงมาคือชุดที่แช่ใบหูกวาง 20 กรัมต่อลิตร และชุดที่ใช้ใบหูกวาง 10 กรัมต่อลิตร นั่นคือ ใบหูกวาง 1 กรัม ให้ความเข้มข้นของแทนนิน 6.47 มิลลิกรัมต่อลิตร และการแช่ใบหูกวางแห้งควรแช่เป็นระยะเวลา 14 วัน จึงจะมีความเข้มข้นของแทนนินสูงที่สุด

2) การสกัดสารแทนนินจากใบหูกวางโดยวิธีการใช้ความร้อน

แม้ว่าการแช่ใบหูกวางแห้งเป็นวิธีการสกัดที่ง่าย สะดวก และประหยัด แต่ใช้เวลานาน ถ้าต้องการใช้น้ำใบหูกวางแบบเร่งด่วนแนะนำให้ใช้วิธีการสกัดแบบวิธีอื่นเช่น วิธีการใช้ความร้อนสกัดสารแทนนินจากใบหูกวาง โดยเก็บใบหูกวางแก่จัดนำมาล้างน้ำให้สะอาดและนำใบหูกวางที่ได้ไปอบหรือตากให้แห้ง

จากนั้นนำมาตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ ชั่งน้ำหนักแล้วนำไปต้ม ทั้งนี้จากผลการต้มใบหูกวางแห้งที่ระยะเวลาและปริมาณต่างกัน พบว่าการต้มใบหูกวาง 20 กรัมต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร ในระยะเวลา 30 นาที เป็นวิธีการสกัดสารแทนนินที่ดีที่สุด

ซึ่งใช้ปริมาณใบหูกวางในการสกัดน้อยแต่ได้ความเข้มข้นของแทนนินไม่แตกต่างกับการต้มใบหูกวาง 30 กรัมต่อลิตร โดยการต้มใบหูกวาง 20 กรัมต่อลิตร มีความเข้มข้นของแทนนินมากกว่าการแช่ใบหูกวาง 30 กรัมต่อลิตร 4.1 เท่า

การประยุกต์ใช้สกัดสารแทนนินจากใบหูกวางในการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและสัตว์น้ำ

1) การประยุกต์ใช้สกัดสารแทนนินจากใบหูกวางลดปริมาณแอมโมเนียในน้ำ

สารสกัดแทนนินจากใบหูกวางที่ความเข้มข้น 200 ppm สามารถลดปริมาณแอมโมเนียได้สูงที่สุด (ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ จากความเข้มข้นเริ่มต้น) ภายในระยะเวลา 10 นาที

ถือว่าเป็นการกำจัดแอมโมเนียที่มีประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่นๆ เช่น การใช้ระบบหมุนเวียนไนตริฟิเคชั่น ระบบไบโอฟลอค และการใช้สารเคมีอื่นๆ ซึ่งอาจจะทำให้มีการสะสมของสารพิษและเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ

2) การใช้สารสกัดแทนนินจากใบหูกวางรักษาแผลและการงอกของหางปลากัด

จากการศึกษาหาความเข้มข้นที่เหมาะสมของสารสกัดแทนนินจากใบหูกวางต่อประสิทธิภาพในการงอกของหางปลากัด พบว่า ปลากัดที่ใช้สารสกัดแทนนินจากใบหูกวางที่ความเข้มข้น 40 ppm มีผลทำให้หางปลากัดงอกเร็วที่สุดโดยจะเห็นผลได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 เป็นต้นไป

นอกจากนี้การใช้เกลือ 0.1 % ร่วมกับสารสกัดแทนนินจากใบหูกวางที่ความเข้มข้น 40 ppm มีผลทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกของหางปลากัดดีกว่าการใช้สารสกัดแทนนินเพียงอย่างเดียว โดยหางปลากัดจะงอกครบตั้งแต่สัปดาห์ที่3 ของการศึกษาขณะที่ชุดที่ไม่ใช้เกลือต้องใช้เวลาถึง 4 สัปดาห์จึงจะงอกเท่าความยาวเริ่มต้น

ปัญหาและข้อควรระวังระหว่างการนำไปใช้

1) ความเข้มข้นที่เหมาะสมต่อสัตว์น้ำแต่ละชนิด

จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดแทนนินจากใบหูกวาง พบว่า สารสกัดแทนนินจากใบหูกวางสามารถควบคุมคุณภาพน้ำ (แอมโมเนีย) น้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำได้ และไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ เมื่อนำมาใช้ที่ความเข้มข้นไม่เกิน 50 ppm

เนื่องจากสามารถช่วยลดปริมาณแอมโมเนียได้โดยไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพีเอชของน้ำ และไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ (พบอัตราการตายสะสมในสัตว์น้ำตั้งแต่ที่ความเข้มข้น 100 ppm ขึ้นไป)

2) การเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของสารแทนนินจากใบหูกวางที่เก็บรักษาในระยะเวลาต่างกัน

ระยะเวลาการเก็บรักษาที่แตกต่างกันมีผลต่อการลดลงของสารแทนนินและการเพิ่มขึ้นของปริมาณเชื้อแบคทีเรียรวมในผลิตภัณฑ์สารสกัดแทนนินจากใบหูกวาง

ซึ่งจากข้อมูลของการศึกษาครั้งสามารถสรุปได้ว่า สามารถเก็บสารสกัดแทนนินในขวดทึบแสงที่อุณหภูมิห้องได้เป็นระยะเวลา 28 วัน เพื่อความเหมาะสมในการนำไปใช้ควบคุมคุณภาพน้ำ (แอมโมเนีย) น้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ

3) การเปลี่ยนแปลง pH ของน้ำเมื่อใช้สารสกัดแทนนินจากใบหูกวาง

การเลือกใช้สารสกัดแทนนินเพื่อลดปริมาณแอมโมเนียในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำควรคำนึงถึง ความปลอดภัยต่อตัวสัตว์น้ำด้วย ซึ่งจากการศึกษาครั้งนี้เมื่อพิจารณาค่า pH จะพบว่าชุดการทดลอง ที่ความเข้มข้น 200 ppm มีค่า pH ต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับชุดการทดลองอื่นๆ

ดังนั้นการพิจารณาใช้สารสกัดแทนนินจึงควรระมัดระวังเพราะถ้าใช้สารสกัดที่ความเข้มข้นสูงเกินไปมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง pH ในน้ำและอาจจะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้

ที่มา : เอกสารประกอบการอบรม สารสกัดแทนนินจากใบหูกวาง: วิธีการเตรียมอย่างง่ายและการประยุกต์ใช้ในปลาสวยงาม

รายละเอียดเพิ่มเติม