ไก่นวล (นกกระทาดงปากยาว) ลักษณะ อุปนิสัย การผสมพันธุ์ ...

ไก่นวล (Long-billed Partridge)

ไก่นวล ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Rhizothera longirostris (Temminck, 1807) อยู่ในสกุล Rhizothera จัดอยู่ในวงศ์ Phasianidae เป็นสัตว์ป่าในกลุ่มสัตว์ปีก

ที่มา/การค้นพบ

ไก่นวล มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Rhizothera longirostris ชื่อชนิดเป็น คําที่มาจากรากศัพท์ภาษาลาติน 2 คำคือ long-i หรือ longus แปลว่ายาว และ rostrum แปลว่าปาก ความหมายตามชื่อชนิดจึงหมายถึง "นกที่มีปากยาว"

ไก่นวล เป็นชนิดที่พบครั้งแรกที่ เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ทั่วโลกมีไก่นวล 2 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบชนิดย่อยเดียว คือ Rhizothera longirostris longirostris (Temminck) ที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อย เช่นเดียวกับชนิด

ไก่นวล (นกกระทาดงปากยาว) ลักษณะ อุปนิสัย การผสมพันธุ์
photo by Wilbur Goh

การกระจายพันธุ์

ไก่นวล มีถิ่นกำเนิดในเกาะสุมาตรา และบอร์เนียว ในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้พบใน พม่า ไทย และมาเลเซีย

ลักษณะทั่วไป

ไก่นวล เป็นนกที่มีขนาดเล็ก-กลาง (36 ซม.) หัวและคอหอยสีน้ำตาลแกมสีสนิม กระหม่อมและคอด้านบนสีน้ำตาล ปากยาว ใหญ่ และโค้งลงเล็กน้อย ตัวผู้บริเวณอก รอบคอ และหลังตอนท้ายเป็นสีเทา ด้านล่างลำตัวสีเนื้อไม่มีลายใดๆ

ในขณะที่บินจะเห็นลาย สีน้ำตาลเข้มของหลังและไหล่ ตัดกับสีของปีกซึ่งเป็นลายสีเนื้อ ตะโพก หาง และขนปกคลุม หางเป็นสีเทาแกมสีเนื้อ

ตัวเมียลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่ไม่มีสีเทาบริเวณอก และรอบคอ แต่จะเป็นสีน้ำตาลแดงแทน และมีลายขีดสีเนื้อบริเวณหลัง ตะโพก และขนปกคลุมหาง ส่วนหางสีน้ำตาล ทั้ง 2 เพศจะมีเดือยข้างละเดือยในแต่ละขา

อุปนิสัยและการกินอาหาร

ไก่นวล เป็นนกที่มีกิจกรรมต่าง ๆ และหากินในตอนกลางวัน พบเป็นคู่หรือฝูงเล็ก ๆ พบในป่าไผ่ ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบชื้น ในระดับต่ำ หากินตามพื้นดินด้วยการคุ้ยเขี่ยอาหาร ได้แก่ เมล็ดหญ้า เมล็ดพืช ผลไม้สุกที่หล่นจากต้น แมลง หนอน และสัตว์ขนาดเล็กต่าง ๆ ที่อยู่ตามพื้นดิน ในตอนกลางคืนจะจับคอนนอนตามกิ่งไม้ หรือกิ่งไผ่

การผสมพันธุ์

ไก่มวล ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อน หรือระหว่างเดือนมีนาคม พฤษภาคม ทำรังตามพื้นดินด้วยการขุดดินให้เป็นแอ่งเล็กน้อย อาจนำวัสดุบางอย่าง เช่น ใบไม้ ใบหญ้า มาวางที่แอ่งเพื่อรองรับไข่

ปกติรังจะอยู่ใต้ซุ้มกอหญ้า กอพืช หรืออยู่ตามพื้นป่า ยังไม่มีรายงานรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับชีววิทยาการสืบพันธุ์ของไก่นวลในประเทศไทย เข้าใจ ว่าคงไม่แตกต่างไปจากนกกระทาดงอื่น ๆ มากนัก

อนุกรมวิธาน (Taxonomy)

  • อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
  • ไฟลัม (Phylum) : Chordata
  • ซับไฟลัม (Subphylum) : Vertebrata
  • ชั้น (Class) : Aves
  • ลำดับ (Order) : Galliformes
  • วงศ์ (Family) : Phasianidae
  • วงศ์ย่อย (Subfamily) : -
  • สกุล (Genus) : Rhizothera
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) : Rhizothera longirostris (Temminck, 1807)
  • ชื่อพ้อง (Synonyms) : -
  • ชื่อสามัญ (Common name) : Long-billed Partridge
  • ชื่อไทย (Thai name) : ไก่นวล
  • ชื่ออื่นๆ (Other name) : นกกระทาดงปากยาว, Long-billed Wood Partridge

สถานภาพ (Status)

  • สถานภาพ: ไก่นวล หรือ นกกระทาดงปากยาว เป็นนกประจำถิ่นของไทย พบใน ภาคใต้ และภาคตะวันตก ค่อนข้างหายากและปริมาณน้อยมาก หรือใกล้จะสูญพันธุ์
  • สถานภาพตามกฎหมาย: กฎหมายจัดไก่นวลเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
  • IUCN 2008: ใกล้ถูกคุกคาม (near threatened) NT

เทคนิคในการดูนก

  • ออกไปดูนกเวลาเช้าตรู่ก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้น
  • พยายามหยุดทุก ๆ 5 นาที เพื่อสำรวจดูนกรอบ ๆ ตัว รวมทั้งพยายามฟังเสียงร้องของนกด้วย
  • พยายามมองหานกตั้งแต่ระดับพื้นดิน จนถึงบนท้องฟ้า
  • พยายามส่งเสียงให้น้อยที่สุด
  • เมื่อเห็นนกด้วยตาเปล่า ควรรีบส่องกล้องสองตาดูทันที
  • เมื่อเห็นนกไม่ควรแย่งกันดู แต่ควรส่องกล้องสองตาดูนกในตำแหน่งที่แต่ละคนยืน หรือนั่งอยู่
  • ควรจดจำรายละเอียดของนกตัวนั้นให้มากที่สุด แล้วนำมาจำแนกจากหนังสือคู่มือดูนก
  • เลือกใช้อุปกรณ์ดูนก กล้องส่องทางไกลแบบสองตา (Binoculars) เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญสูงสุดในการดูนก เพราะช่วยให้มองเห็นรายละเอียดของนกได้ในระยะไกล ขนาดของกล้องส่องทางไกลแบบสองตาที่เหมาะสมกับการดูนก มีกำลังขยายที่เหมาะสม ภาพไม่แคบจนเกินไป น้ำหนักเบา เหมาะมือ ราคาไม่แพง