นกกระทาทุ่ง ลักษณะ อุปนิสัย กินอะไรเป็นอาหาร เสียงร้อง?!
นกกระทาทุ่ง (Chinese Francolin)
นกกระทาทุ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Francolinus pintadeanus (Scopoli, 1786) อยู่ในสกุล Francolinus จัดอยู่ในวงศ์ Phasianidae เป็นสัตว์ป่าในกลุ่มสัตว์ปีก
ที่มา/การค้นพบ
ชื่อชนิด เป็นคําที่มาจากรากศัพท์ดังนี้ pintade เป็นรากศัพท์ภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ไก่ชนิดหนึ่ง หรือ pintado เป็นรากศัพท์ภาษาโปรตุเกส แปลว่า เป็นจุด -anus เป็นรากศัพท์ภาษาลาติน แปลว่า สัมพันธ์กับ ความหมายของชื่อชนิด ก็คือ "ไก่ชนิดหนึ่ง หรือ นกที่(ท้อง)มีลายจุด"
นกกระทาทุ่ง เป็นชนิดที่พบครั้งแรกในประเทศจีน มีชื่อวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นชื่อพ้องว่า Francolinus boineti ชื่อชนิดเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล
อาหารนกกระทาทุ่ง กินอะไร
Photo by Natthaphat Chotjuckdikul
นกกระทาทุ่ง เป็นนกที่มีกิจกรรมต่างๆและหากินในตอนกลางวัน โดยเฉพาะในตอนเช้าและตอนบ่าย เป็นนกที่อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้า และป่าโปร่ง อันได้แก่ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ต่างๆ ที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล
พบโดดเดี่ยว หรือเป็นครอบครัว ปกติจะเดินอยู่ตามพื้นดินซึ่งมีหญ้า หรือวัชพืชต่าง ๆ ปกคลุมอย่างหนาแน่น ทําให้มองเห็นตัวได้ยาก เป็นนกที่ตกใจง่ายมาก เวลาตกใจ หรือมีศัตรู จะบินหนีไปในระยะทางที่ไกลพอสมควร แต่บินในระดับที่ไม่สูงมากนัก ปกติบินเรี่ย ๆ ยอดหญ้า จากนั้นจะไปหลบอยู่ตามพงหญ้าอีก
ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ จะได้ยินร้องหรือขันเกือบตลอดทั้งวัน แต่ส่วนใหญ่จะร้องในตอนเช้าและบ่าย การร้องหรือขันแต่ละครั้ง มักจะเป็น 4 จังหวะ คือ "ตะ -ต๊าก -ตะ-ต่า" จะร้องติดต่อกันและหยุดชั่วระยะหนึ่ง ประมาณ 40-70 วินาที แล้วจะร้อง หรือขันต่อไปอีก
ในขณะที่ตัวใดตัวหนึ่งร้อง ถ้ามีตัวอื่น ๆ ก็จะร้องตอบ นกก็จะร้องขึ้น แต่หากไม่มีตัวอื่น ๆ ร้องตอบ จะทิ้งช่วงในการร้องแต่ละครั้งนาน นกตัวผู้เท่านั้นที่ร้องหรือขันดังกล่าว เป็นการร้องหรือขัน ซึ่งเป็นการป้องกันอาณาเขตและร้องเพื่อดึงดูดตัวเมีย ขณะที่ร้อง มักจะเกาะตามกิ่งไม้ มักจะไม่ร้องเมื่อเดินอยู่ตามพื้นดิน
นกกระทาทุ่ง กินเมล็ดพืชต่าง ๆ เป็นอาหารเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเมล็ดไผ่ (ขุยไผ่) เมล็ดหญ้าต่าง ๆ นอกจากนี้ ก็ยังกินแมลง ตัวหนอน ไส้เดือน และสัตว์ขนาดเล็กต่าง ๆ ที่อยู่ใต้ดิน ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการคุ้ยเขี่ยเช่นเดียวกับไก่ จากนั้นจึงใช้ปากจิกกิน บางครั้งก็เดินไล่จิกแมลง ตามพื้นดินหรือตามใบหญ้าต่าง ๆ
การกระจายพันธุ์
นกกระทาทุ่ง มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย จนถึงจีนตอนใต้ ไหหลํา และมีผู้นำเข้าไปในเกาะมาดากัสการ์ และฟิลิปปินส์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบทั่วไป
นกกระทาทุ่ง ทั่วโลกมี 2 ชนิดย่อย พบในประเทศไทยชนิดย่อยเดียวคือ Francolinus pintadeanus phayrei (Bly th) ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคลคือ Sir Arthur Purves Phayre (1812-1885) ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นข้าหลวงคนแรกประจำประเทศพม่า พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่ Arrakan (Arakan) ทางตอนใต้ของประเทศพม่า
ลักษณะทั่วไป
นกกระทาทุ่ง เป็นนกที่มีขนาดเล็ก-กลาง (32-33 ซม.) ปากสีดำ ลักษณะอ้วน สั้น คอค่อนข้างสั้น ปีกกว้าง ปลายปีกมน หางสั้น ลำตัวอ้วน ขาค่อนข้างสั้น ขาและนิ้วสีเหลือง ตัวผู้และตัวเมียลักษณะและสีสันแตกต่างกันเล็กน้อย
ตัวผู้ บริเวณคอหอยและคางสีขาว มีขีด สีทําคั่นระหว่างบริเวณทั้งสอง บริเวณอก คือ ท้องตอนหน้า และ ช่วงไหล่สีดำ โดยมีลายจุด ขนาดใหญ่สีขาวกระจายอยู่ทั่วๆไป โคนปีก ตะโพก และขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสี น้ำตาลแดง หางสีดำ และบริเวณดังกล่าวจะมีลายแถบเล็กๆสีขาว หรือน้ำตาลอ่อนตลอด
ตัวเมีย ลักษณะและสีสันคล้ายคลึงกับตัวผู้ มีขีดคั่นระหว่างคอหอยกับคางเป็นสีน้ำตาล คอ ด้านบนและช่วงไหล่สีดำมีลายแถบสีน้ำตาล ตะโพก ขนคลุมโคนขนหางด้านบน และหางมีลายขวางขนาดกว้าง สีดำสลับกับลายขวางแคบๆ สีน้ำตาล ด้านล่างลําตัวสีนําตาล มีลายขวาง หรือแถบสีดำตลอดตั้งแต่คอ อกและท้อง
ตัวผู้ที่โตเต็มที่จะมีเดือย ส่วนตัวเมียจะไม่มีเดือยแต่ประการใด
การผสมพันธุ์
นกกระทาทุ่ง ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน หรือระหว่างเดือน มีนาคม-กรกฎาคม ซึ่งในช่วงดังกล่าวจะได้ยินเสียงนกกระทาทุ่ง ร้องหรือขัน เกือบตลอดเวลา ในขณะที่ช่วงอื่น ๆ มักจะไม่ได้ยินเสียงร้องแต่อย่างใด
นกกระทาทุ่ง ทํารังตามกอหญ้า โดยใช้ต้นและใบหญ้าแห้ง เศษใบไม้แห้ง และขนนก มาวางซ้อนทับกันบริเวณกอหญ้า ซึ่งแหวกให้กว้างขึ้น ส่วนยอดหญ้าจะโค้งเข้ามายึดรังไว้ ทำให้มองเห็นร้งได้ค่อนข้างยาก
ขนาดของรังโดยทั่วไป มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขอบนอก 12-15 ซม. ลึก 3-5 ซม. เฉพาะตัวเมียตัวเดียวที่หาวัสดุและก่อสร้างรัง ตัวผู้มักจะจับคู่กับตัวเมียหลายตัวในช่วงฤดูผสมพันธุ์หนึ่งๆ
ไข่มีลักษณะเป็นรูปไข่ สีขาวอมเหลือง หรือสีเนื้อ ไม่มีจุดหรือลายใดๆ ขนาดโดยเฉลี่ย 29.6 × 37.8 มม. ในแต่ละรังมีไข่ 3-6 ฟอง โดยพบ 4 ฟองมากที่สุด ตัวเมียตัวเดียวที่ฟักไข่ โดยเริ่มฟักเมื่อออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว ระยะเวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 20-22 วัน
นกกระทาทุ่งเป็นนกที่ตกใจง่ายดังกล่าวแล้ว ดังนั้น หากมีศัตรูหรือสิ่งรบกวนไข่หรือบริเวณรัง นกจะทิ้งรังทันที แล้วไปสร้างรัง และวางไข่ใหม่ แม้ว่ารังเดิมจะออกไข่ครบรังแล้วก็ตาม
ลูกนกกระทาทุ่ง จะออกจากไข่เองโดยใช้ฟันเจาะเปลือกไข่ ออกมาใหม่ ๆ จะมีขนอุยปกคลุม ลำตัวเป็นสีน้ำตาล มีจุดและขีดสีดำทั่ว ๆ ไป เมื่อไข่ฟักออกเป็นตัวครบรัง รวมทั้งขนลูก ๆ แห้งดีแล้ว แม่จะพาเดินไปหาอาหาร
โดยที่แม่จะใช้ตีนคุ้ยเขี่ยแล้วใช้ปากจิกลงไปในดิน พร้อมกับส่งเสียงเรียกลูก ๆ ให้จิกอาหารกิน เมื่อมีภัยก็จะส่งเสียงให้ลูก ๆ วิ่งหลบตามกอหญ้า ตัวแม่เองจะบินหนีไปให้ไกลแล้วหลบซ่อนตัวอยู่ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้ว จึงจะบินกลับมาที่เดิม ส่งเสียงให้ลูก ๆ ออกจากที่ซ่อน
ในขณะที่ลูก ๆ หลบซ่อนตัวอยู่นั้น จะอยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหวใด ๆ และเนื่องจากสีสันกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมมาก จึงมักจะมองไม่ค่อยเห็น ลูก ๆ จะตามแม่ออกหากินและทำกิจกรรมต่าง ๆ จนกระทั่งแข็งแรงและโตเกือบเท่าแม่ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จากนั้นก็จะแยกจากแม่ออกมาหากินตามลำพัง
ลูกนกอายุ 1 ปี จะเป็นตัวเต็มวัยพอที่จะผสมพันธุ์ และให้กำเนิดลูกได้
อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
- ไฟลัม (Phylum) : Chordata
- ซับไฟลัม (Subphylum) : Vertebrata
- ชั้น (Class) : Aves
- ลำดับ (Order) : Galliformes
- วงศ์ (Family) : Phasianidae
- วงศ์ย่อย (Subfamily) : -
- สกุล (Genus) : Francolinus
- ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) : Francolinus pintadeanus (Scopoli, 1786)
- ชื่อพ้อง (Synonyms) : Francolinus boinet
- ชื่อสามัญ (Common name) : Chinese Francolin
- ชื่อไทย (Thai name) : นกกระทาทุ่ง
- ชื่ออื่นๆ (Other name) : Burmese Francolin, Francolin
สถานภาพ (Status)
- สถานภาพ: นกกระทาทุ่ง เป็นนกประจำถิ่นของไทย พบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ พบได้บ่อยและปริมาณปานกลาง
- สถานภาพตามกฎหมาย: กฎหมายจัดนกกระทาทุ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
- IUCN 2008: กลุ่มที่เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least concern) LC
เทคนิคในการดูนก
- ออกไปดูนกเวลาเช้าตรู่ก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้น
- พยายามหยุดทุก ๆ 5 นาที เพื่อสำรวจดูนกรอบ ๆ ตัว รวมทั้งพยายามฟังเสียงร้องของนกด้วย
- พยายามมองหานกตั้งแต่ระดับพื้นดิน จนถึงบนท้องฟ้า
- พยายามส่งเสียงให้น้อยที่สุด
- เมื่อเห็นนกด้วยตาเปล่า ควรรีบส่องกล้องสองตาดูทันที
- เมื่อเห็นนกไม่ควรแย่งกันดู แต่ควรส่องกล้องสองตาดูนกในตำแหน่งที่แต่ละคนยืน หรือนั่งอยู่
- ควรจดจำรายละเอียดของนกตัวนั้นให้มากที่สุด แล้วนำมาจำแนกจากหนังสือคู่มือดูนก
- เลือกใช้อุปกรณ์ดูนก กล้องส่องทางไกลแบบสองตา (Binoculars) เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญสูงสุดในการดูนก เพราะช่วยให้มองเห็นรายละเอียดของนกได้ในระยะไกล ขนาดของกล้องส่องทางไกลแบบสองตาที่เหมาะสมกับการดูนก มีกำลังขยายที่เหมาะสม ภาพไม่แคบจนเกินไป น้ำหนักเบา เหมาะมือ ราคาไม่แพง