กิ้งก่าบินปีกลาย (Barred Flying Dragon) ลักษณะเด่น 5 แถบ!
กิ้งก่าบินปีกลาย
กิ้งก่าบินปีกลาย ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Draco taeniopterus Günther, 1861 อยู่ในสกุล Draco จัดอยู่ในวงศ์ Agamidae วงศ์ย่อย AGAMINAE กิ้งก่าบินปีกลาย เป็นสัตว์เลื้อยคลาน ในกลุ่ม Lizards
- ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ: Barred Flying Dragon
- ชื่ออื่น: Banded-winged Flying Lizard ; Barred Gliding Lizard ; Thai Flying Dragon
ถิ่นอาศัย
กิ้งก่าบินปีกลาย ในประเทศไทย พบได้ตามสวนยาง ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทั่วทุกภาค ซึ่งมีรายงานการพบครั้งแรกในประเทศไทยที่ จ.จันทบุรี
กิ้งก่าบินปีกลาย กินอะไรเป็นอาหาร
กินแมลงขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น มด เป็นต้น
การแพร่กระจาย
แพร่กระจายใน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย
ลักษณะ กิ้งก่าบินปีกลาย
กิ้งก่าบินปีกลายเป็นกิ้งก่าบินขนาดกลาง ขนาดวัดจากปลายปากถึงรูก้น 6.6-8 ซม. หางยาว 13.6-15.3 ซม. หัวเล็ก ลำตัวแบน หางยาว และโคนหางใหญ่
ลำตัวด้านข้างระหว่างด้านท้ายของขาหน้า กับ ด้านหน้าของขาหลัง มีแผ่นหนังกว้างแผ่ออกมาคล้ายปีก มีสีเหลืองอมส้ม และมีแถบกว้างสีดำพาดขวาง5แถบ ขอบของแถบไม่เป็นระเบียบ และตัวแถบไม่ต่อเนื่อง
ขอบด้านนอกของแผ่นหนังด้านข้างลำตัวมีสีส้มอมแดง ด้านล่างของแผ่นหนังมีสีเหลืองและมีแถบพาดขวาง5แถบ แผ่นหนังนี้ ได้รับการค้ำจุนด้วยกระดูกซี่โครง 5 ซี่ ที่ยาวพ้นลำตัวด้านข้างออกมา
เพศผู้ มีแผ่นหนังสั้นที่ด้านข้างลำคอ ส่วนด้านล่างของแผ่นหนังนี้มีสีแดง และมีเหนียงใต้คอ โดยบริเวณโคนเหนียงมีสีแดงส้มหรือสีเหลืองส้ม ส่วนปลายเหนียงมีลักษณะมนกลมและมีสีเขียวจาง ตัวเหนียงยาวกว่าความยาวของหัว เกล็ดบนเหนียงมีขนาดใหญ่และมีสัน ลำตัวสีเทา หรือสีเทาอมเขียว และมีลายเลอะสีดำ ทำให้ลำตัวดูคล้ายเปลือกไม้ จึงสามารถพรางตัวได้เป็นอย่างดีบนต้นไม้
บนหัวระหว่างตาทั้งสองข้างมีแถบสีดำพาดขวาง และมีแถบสีดำพาดขวางที่ท้ายทอย มีแถบกว้างสีเข้มรูปตัวดับเบิลยูภาษาอังกฤษ(W)ที่หัวไหล่ ส่วนต้นของด้านหลัง และส่วนท้ายของด้านหลัง ท้องสีเหลือง ขาหน้าและขาหลังค่อนข้างยาวและมีแถบสีเข้มพาดขวาง
เมื่อจับขาหลังแนบกับลำตัวไปทางด้านหน้า ส่วนปลายนิ้วตีนของขาหลังจะอยู่ในตำแหน่งด้านท้ายของขาหน้า นิ้วตีนยาว และทุกนิ้วตีนมีเล็บ หางมีแถบสีเข้มกับสีจางพาดขวางเป็นปล้อง
ผิวหนังลำตัวมีเกล็ดปกคลุม ทางส่วนหน้าของหัว มีเกล็ดใหญ่และมีสันที่เรียงตัวลักษณะคล้ายรูปตัววายภาษาอังกฤษหัวกลับ ด้านบนของของแผ่นเยื่อแก้วหูมีเกล็ดเป็นตุ่มใหญ่ เกล็ดบนหลังมีลายขนาดและมีรูปร่างแตกต่างกัน เกล็ดด้านท้องมีขนาดใหญ่และมีสัน เกล็ดด้านบนของหางเป็นสันใหญ่และส่วนปลายของสันชี้ไปทางด้านท้าย เกล็ดทางส่วนล่างของขาหน้าและขาหลังเป็นสันใหญ่ วางไข่คราวละ 4 ฟอง
อ้างอิง: Natureman Thaimountain