ผลร้ายจากโรคนิ่วเต่าบก ซูคาต้า, เรเดียต้า, เต่าดาว, เต่าเสือดาว!
นิ่วทั้งแบบในทางเดินอาหาร (gastroenterolith) และระบบปัสสาวะ (urolith) ในเต่าบก โดยเฉพาะซูคาต้า (African spurred tortoise) มักพบ 2 ชนิด ได้แก่ แคลเซียมออกซาเลต และยูเร็ต
ชนิดที่พบปัญหามากที่สุดในไทยเป็นแคลเซียมออกซาเลต โดยการศึกษาวิจัยพบปัจจัยโน้มนำที่มีผลต่อการเกิดนิ่ว ได้แก่ เต่าได้รับน้ำไม่เพียงพอ และกรดออกซาลิคมีมากในพืชอายุน้อย เช่น ยอดไม้ ใบอ่อน และผัก
กล่าวถึงโอกาสในการเกิดโรคก่อน ในเต่าบกจะพบปัญหายูเร็ตได้น้อยกว่าพวกสัตว์กินแมลงและเนื้อ ทั้งจระเข้ คาเมเลี่ยน ที่พบการสะสมของโทไฟหรือผลึกยูเร็ตตามข้อ อวัยวะภายใน ไตและระบบปัสสาวะได้
ขณะที่สัตว์กินพืชจะพบแคลเซียมออกซาเลตสูง จึงพบได้ในระบบทางเดินอาหารและระบบปัสสาวะ และขจัดหรือป้องกันได้ง่ายด้วยการเลี่ยงการกินอาหารที่เสี่ยงเป็นหลัก และให้ได้รับน้ำที่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงจะทราบดีว่าตนได้จัดน้ำอย่างเพียงพอแล้ว เหตุใดจึงยังเป็นนิ่วชนิดนี้ได้ จำเป็นต้องอธิบายเรื่องการได้น้ำให้เข้าใจก่อน
การได้รับน้ำมาจาก 3 ทาง ได้แก่ ดื่มน้ำโดยตรง (free water) ได้จากอาหาร (perform water) และจากกระบวนการสันดาปในร่างกาย (oxidative water) เต่าบกมักได้รับน้ำน้อยในรูปการดื่ม แต่จะได้จากอาหารและการสันดาปโปรตีน ไขมัน และแป้ง จึงมีลักษณะของเกล็ดหนาเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำจากผิวหนัง
และอีกทางที่ถือเป็น free water ของสัตว์เลื่อยคลาน คือการได้รับโดยการแช่น้ำ และได้รับน้ำผ่านทางทวารรวม ลำไส้ใหญ่ โดยอิทธิพลของฮอร์โมน arginine vasotocin ร่วมกับกลไก aquaporin การแช่น้ำในลูกเต่าที่มีความเสี่ยงนิ่ว (กินพืชอ่อน และพบนิ่วได้ตั้งแต่อายุเพียง 2 เดือนตามสถิติที่พบในโรงพยาบาล) จะช่วยลดการเกิดนิ่วได้อย่างชัดเจน
ปัญหาของนิ่วไม่ได้แค่การอุดกั้นระบบปัสสาวะ! อย่ามองข้าม
นิ่วที่มีขนาดใหญ่จะไปกดพื้นที่การหายใจ ทำให้พื้นที่แคบลง ทำให้เต่าหายใจลำบากและใช้แรงมากขึ้น จะเห็นการพองแถวซอกขาเมื่อหายใจเข้า บางรายต้องโก่งตัวและกางขาใช้กล้ามเนื้อช่วยมากขึ้น บางรายหมดแรงและมาด้วยภาวะฉุกเฉิน แม้ว่าจะประเมินได้ยาก
นิ่วขนาดใหญ่ไปอุดกั้นและกดทับทางเดินของระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดภาวะลำไส้อืด (ileus) มีการสะสมของแก๊สในลำไส้ และมีผลไปเพิ่มการกดทับพื้นที่ปอด และหากเป็นระยะเวลานานจะเสี่ยงต่อการเกิดเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารและเกิดการอักเสบตามมา
แม้จะไม่ใช่เรื่องอันตรายเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น แต่ภาวะนี้ตะมีผลต่อสุขภาพ การเจริญเติบโต และหลายรายตายเพราะเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งมักพบภาวะนี้ในพวกเรเดียต้า (Radiata)
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มักจะพบนิ่วได้ในกรวยไต ท่อไต ทำให้เกิดปัญหาไตบาดเจ็บ และเกิดภาวะกรดยูริคในร่างกายสูงตามมาด้วย ยังพบการสะสมของสารประกอบไนโตรเจนอื่น ๆ เพิ่มขึ้นในร่างกาย เกิดปัญหาแบบทั้งระบบ (systemic problems) และไตวาย
ปัญหาสำคัญมาก ๆ อีกเรื่อง คือ นิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลต มีกรดออกซาลิคเป็นตัวปัญหา ซึ่งจะเข้าไปจับกับแคลเซียมในร่างกาย ในเต่าเด็กที่กำลังเจริญเติบโตจะทำให้เกิดภาวะแคระแกรน กระดูกบาง คดงอผิดรูป และหักง่าย หลายรายมาตรวจมักพบภาวะกระดูกเสื่อมและหักมาแล้วโดยที่อาจไม่พบอาการผิดปรกติภายนอก ดูได้ยาก ยกเว้น ไม่ค่อยเดิน ในเต่าซูคาต้าจะพบผลึกนิ่วได้ แต่….
อันนี้มองข้ามกันมาก พบว่าในเต่าบกชนิดอื่น ๆ อาจไม่ปรากฎ เพราะจะขับออกได้ง่ายจากการได้รับน้ำจากพฤติกรรมการดื่มของเต่าแต่ละชนิด แต่ก็ยังสูญเสียแคลเซียมในรูปที่จับกับกรดออกซาลิคทางปัสสาวะอยู่ดี ซึ่งทั้งผู้เลี้ยงและสัตวแพทย์จำนวนไม่น้อยอาจมองข้ามเรื่องนี้ไป
โรคเมตาบอลิคกระดูก (MBD: metabolic bone diseases) ที่พบในเต่าดาว เต่าดาวรัศมี เต่าเสือดาว ล้วนมีปัจจัยเสี่ยงมาจากอาหาร และสัมพันธ์กับกรดออกซาลิค และจะพบเห็นเมื่ออายุโตเต็มวัย ต่างจากเต่าซูคาต้าที่มักจะพบนิ่วร่วม เพราะมีปัจจัยเรื่องน้ำ พฤติกรรม และการขับปัสสาวะเข้ามาเกี่ยวข้อง
เป็นคำแนะนำเพิ่มเติมเมื่อพบเต่าบกที่มาด้วยปัญหานิ่ว และโรคเมตาบอลิคกระดูก อาจมีความสัมพันธ์กับเรื่องนี้ และอาจมีผลร้ายมากกว่าเห็น